"กลาโหม" ปูทางพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

การเมือง
10 มี.ค. 64
12:21
1,448
Logo Thai PBS
"กลาโหม" ปูทางพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ท่ามกลางกระแแสกดดันและถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศ ล่าสุดปลัดกระทรวงกลาโหม-เหล่าทัพได้ลงนามบันทึกข้อตกลงสั่งซื้อ-สั่งจ้าง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศย้ำจุดยืนพึ่งพาตัวเองและส่งสัญญาณหนุนการผลิตในเชิงพาณิชย์

เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญหลังจาก พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมผู้แทนผบ.เหล่าทัพ ประกอบด้วย พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ธรรมนูญ วิถี ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม รองผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ปราโมทย์ ศิริธรรมกุล และ พล.อ.สราวุธ รัชตะนาวิน ผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การสั่งซื้อ-สั่งจ้างผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

 

โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมกับ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เพื่อผนึกกำลังร่วมกันระหว่างส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม

นำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่สามารถผลิตขึ้นใช้ได้เอง สะท้อนการพึ่งพาตนเองลดการจัดซื้อยุทโธปกรณ์

เป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้วยการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้มีความก้าวหน้ารวมทั้งต่อยอดนวัตกรรมที่ทันสมัย เช่น ปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตร อัตราจรล้อยาง ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศผู้ผลิต ปัจจุบันส่งมอบให้กับกองทัพบกและกองทัพเรือนำไปทดสอบเพื่อใช้จริง

 

ปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตรทำการผลิตขึ้นเองทั้งระบบกระบอก เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 มิลลิเมตรอัตราจรล้อยาง ได้วิจัยร่วมกับมิตรประเทศ การผลิตกระสุนปืนใหญ่ ขนาด 105 และ 155 มิลลิเมตรแบบออโตเมชั่น โครงการวิจัย และพัฒนาปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตร และปืนพกขนาด 11 มม. เพื่อเป็นปืนต้นแบบใช้ในกระทรวงกลาโหม

โครงการวิจัยและพัฒนาสายการผลิตระบบกล้องวงจรปิดเชิงอุตสาหกรรมด้านความมั่นคง รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อกักเก็บพลังงานในอนาคตสำหรับยานพาหนะทางยุทธวิธี

นอกจากนี้โรงงานเภสัชกรรมทหารได้กำหนดแผนก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่เพื่อขยายความสามารถในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ให้กับกองทัพและประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล

 

สำหรับการลงนามครั้งนี้มีกรอบความร่วมมือ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2564 - 2567 ถือเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายลำดับที่ 11 หรือ S - Curve 11 ที่เป็นการเปิดแนวคิดใหม่ในการปฏิรูปอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและห่วงโซ่การผลิต เสริมสร้างความพร้อมรบ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกองทัพเพื่อให้เป็นหลักประกันความมั่นคง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ในระดับสากล

แนวคิดพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จุดประกายมาตั้งแต่ช่วงที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังเป็นรมว.กลาโหม และมีมติผ่านที่ประชุมสภากลาโหมครั้งที่ 8/2560 เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2560-2579 ที่มุ่งสู่การพัฒนา ตอบสนองความต้องการของกองทัพไทยและพันธมิตรอาเซียน

 

กำหนดเป้าหมายให้กระทรวงกลาโหม มีขีดความสามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อความพร้อมในการรบ รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อผลิตใช้ในราชการและการพาณิชย์โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ แบ่งออกเป็นระยะละ 5 ปี

ตอกย้ำด้วยการประกาศจุดยืน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีทันทีที่มานั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม ขับเคลื่อนนโยบายการวิจัยพัฒนาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อการผลิตยุทโธปกรณ์สำหรับการใช้เองภายในกองทัพและจัดตั้งนิคมอุตสากรรมป้องกันประเทศ โดยให้หน่วยขึ้นตรงกลาโหมและเหล่าทัพประสานการทำงานร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.)

 

อาศัย พ.ร.บ.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อำนวยความสะดวกให้ผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศสร้างประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่การพึ่งพาตนเอง ลดภาระด้านงบประมาณ รวมทั้งคาดหวังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้กระตุ้นการลงทุน และตอบโจทย์การป้องกันประเทศควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ที่เป็นรูปธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง