บีทีเอสโต้กลับ รฟม.ชี้พิรุธโครงการฯ สายสีส้ม จ่อฟ้องอีก 3 คดี

เศรษฐกิจ
10 มี.ค. 64
18:30
338
Logo Thai PBS
บีทีเอสโต้กลับ รฟม.ชี้พิรุธโครงการฯ สายสีส้ม จ่อฟ้องอีก 3 คดี
บีทีเอส งัดหลักฐานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โต้กลับ รฟม. พบพิรุธตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ส่อไม่เป็นธรรม เพราะกระบวนการศาลปกครองยังไม่ยุติ มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เตรียมเดินหน้าฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพิ่มอีก 3 คดี

วันนี้ (10 มี.ค.2564) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด มหาชน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศในเว็บไซต์ แจ้งยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาทนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่น่าประหลาดใจ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และยังไม่มีคำตัดสินแต่อย่างใด

ยังไม่ได้คำตอบหนังสือถึง พล.ประยุทธ์-ศักดิ์สยาม

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 รฟม.ยังเดินหน้าประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) สำหรับการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนและร่างเอกสารเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน (RFP) ฉบับใหม่ ทั้งนี้ BTSC จึงได้ทำหนังสือยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องว่า การดำเนินการของ รฟม.ไม่ถูกต้อง แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบจากการส่งหนังสือดังกล่าว


นายสุรพงษ์ ยืนยันว่า การพิจารณาในกระบวนการศาลยังคงอยู่ เพราะศาลปกครองกลางได้จำหน่ายคดีไปบางส่วนเท่านั้น รวมถึงยังมีคดีที่ศาลได้นัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจฟ้อง ในวันที่ 15 มี.ค.2564 อยู่แล้ว พร้อมกับส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบด้วย

 

ยังไม่ตอบร่วมประมูล ขอดู TOR ก่อน

ส่วนจะเข้าร่วมประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาเอกสารการประกวดราคา (TOR) ก่อนว่าเป็นอย่างไร รวมถึงพิจารณารายละเอียดเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน ซึ่งการหารือกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น ยังยืนยันที่จะเป็นพันธมิตรร่วมกัน ส่วนจะมีพันธมิตรเพิ่มเติมหรือไม่ จะต้องพิจารณา TOR เช่นกัน

สำหรับจุดยืนของ BTS นั้น คือ ไม่เห็นเด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกโดยใช้คะแนนด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา และมองว่า ไม่เป็นธรรม ซึ่งการใช้เกณฑ์เดิม หรือการพิจารณาด้านราคาเพื่อผลตอบแทนสูงสุดของรัฐ คือ วิธีที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กรณีการต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้นั้น ไม่เกี่ยวข้องกัน

ตั้งข้อสังเกตเปลี่ยนหลักเกณฑ์

ขณะที่ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัทบีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์โครงการ ซึ่งมีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2554 และในผลการศึกษาได้บอกรายละเอียด ถึงลักษณะเส้นทางที่จะต้องก่อสร้างว่ามีความเสี่ยงในเรื่องของการก่อสร้างอย่างไรบ้าง แต่เหตุใดจึงไม่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตั้งแต่ต้น

หลักเกณฑ์นี้เริ่มมีความผิดปกติเมื่อบริษัทเอกชนที่ร่วมซื้อซอง มีหนังสือถึงผู้ว่าการ รฟม. และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะการประมูล โดยอ้างเหตุผลถึงหลักเกณฑ์ความเสี่ยงของการขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างขั้นสูงเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือก

พ.ต.อ.สุชาติ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวยังมีพิรุธ เนื่องจากผู้อำนวยการ สคร. ยื่นหนังสือให้ รฟม. จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ แต่ข้อเท็จจริง สคร. ไม่มีหน้าที่ในการส่งเรื่องให้แก่ รฟม.พิจารณา หากมีปัญหาควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบาย เพราะมีเพียงอำนาจในการเห็นชอบร่าง แต่ไม่มีอำนาจในการแก้ไขร่าง ดังนั้นการจะส่งหนังสือไปที่ไหนต้องอ้างตัวบทกฎหมายรองรับด้วย

ขณะเดียวกันยังตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือดังกล่าวถูกส่งมาจากเอกชน ถึง รฟม.ใช้เวลาเพียง 16 วัน ในการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ทั้งหมด แต่เกณฑ์เดิมถูกศึกษามาด้วยงบประมาณระดับร้อยล้าน กลับถูกฉีกทิ้งเพราะเอกสารข้อกล่าวอ้างเพียง 1 หน้าครึ่งเท่านั้น

เมื่อดูข้อกฎหมายแล้ว ไม่มีกฎหมายใดที่ให้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของ รฟม.เลย ยกเว้นในกรณีเดียว คือ ไม่มีเอกชนรายใดมายื่นประมูล รวมถึงต้องยื่นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน แต่กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มมีเอกชนร่วมประมูลจำนวนมาก ทั้งยังไม่เคยเสนอให้ ครม.พิจารณา

นอกจากนี้ ผู้แทนจากสำนักงบประมาณเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือก ได้ออกมาคัดค้าน หลักการประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชน เนื่องจากอาจเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณแผ่นดิน

ยืนยันคดียังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษา

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้แจ้ง รฟม.ว่าขอจำหน่ายคดี เท่ากับว่าคำสั่งทุเลาที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยไว้ รฟม.ไม่โต้แย้ง โดยขณะนั้นคดียังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองกลาง ซึ่ง BTS มองว่า ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เป็นที่สุดก่อน เพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป แต่ รฟม. กลับเดินหน้าโครงการและมีการทำประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 2 มี.ค.

ตั้งคำถามว่าใช้อำนาจใดในการรับฟังความคิดเห็น การกระทำดังกล่าวชี้ให้เห็นเจตนา และความคิดของหน่วยงานเจ้าของโครงการ

ทั้งนี้ บริษัทต้องทำหนังสือร้องเรียนไปถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน, ผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายฯ, ผู้ว่าการ รฟม. ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของโครงการ, คณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งถูกแต่งตั้งตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแล รฟม. และคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.

ตั้งคำถามเป็นกลางหรือไม่

การประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวน รฟม.ออกมาเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งออกก่อนที่ศาลจะมีมติออกมา เพราะคำสั่งศาลจะออกมาได้ 2 รูปแบบ คือ คำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง คือ 1. รฟม.ทำตามหลักเกณฑ์เก่า และ 2.คำสั่งศาลปกครองกลางไม่ชอบใช้หลักเกณฑ์ได้ หากเป็นแบบที่ 2 รฟม.จะใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการคัดเลือกไม่ได้ เพราะ BTS ยื่นในหลักเกณฑ์เก่า ซึ่ง รฟม.ไม่มีอำนาจในการยกเลิกเหมือน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่การรับฟังความเห็นของ รฟม. ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คนที่ฝ่าฝืนกฎหมายแต่ต้องมาเป็นคณะกรรมพิจารณาแพ้หรือชนะ มั่นใจได้หรือไม่ว่าเป็นกลาง ไม่มีดุลยพินิจที่เอนเอียง

ย้ำสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

พ.ต.อ.สุชาติ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ว่าการ รฟม. ยังไม่เคยออกมาเปิดเผยว่า ในการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เมื่อช่วง เม.ย.2563 ว่ามีใครแสดงความเห็นบ้างว่า ต้องใช้เกณฑ์คัดเลือกด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน เนื่องจากหากมีการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว แปลว่า นำไปพิจารณาแล้วแต่ไม่นำมาใช้

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวอีกว่า ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มี.ค.2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น การที่ศาลปกครองกลางมีการจำหน่ายคดี ยังไม่ใช่ข้อยุติ และ BTS มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ในการจำหน่ายคดี ภายใน 30 วันว่า การพิจารณาคำสั่งการยกเลิกใช้อำนาจโดยชอบหรือไม่ อีกทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณายื่นฟ้องอีก 2 ประเด็นเพิ่มเติม คือ การประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2563 และการประกาศรับฟังความเห็นเอกชน เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2564 โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการภายใน 90 วัน

มั่นใจ "หมัดเด็ด" ยื่นศาลอาญาคดีทุจริตฯ

ขณะเดียวกัน ยังมีในส่วนของการฟ้องร้องค่าเสียหาย และรอการพิจารณารับฟ้องในวันที่ 15 มี.ค.นี้ กรณีที่ BTSC ได้ยื่นฟ้องนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 เป็นคดีอาญา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 อย่างไรก็ตาม หากมีการรับฟ้อง ยืนยันว่า มีหลักฐานเด็ดที่จะใช้ในศาลอาญาคดีทุจริตฯ วันที่ 15 มี.ค.นี้ อย่างแน่นอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง