The EXIT : ปมปัญหา 'Sex Worker' ผู้หญิงอาชีพสีเทา

อาชญากรรม
12 มี.ค. 64
13:11
3,699
Logo Thai PBS
The EXIT : ปมปัญหา 'Sex Worker' ผู้หญิงอาชีพสีเทา
สถานการณ์ระบาดโควิด 19 ทำให้เห็นปัญหาการเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐของกลุ่ม Sex Worker หรือ อาชีพค้าบริการ ชัดเจนขึ้น ยังไม่รวมถึงปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้
คนขายบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และเป็นกลุ่มที่ไม่เปิดเผยตัวเอง เพราะรู้ว่ามีกฎหมายเอาผิดควบคุมอยู่ การให้ความช่วยเหลือ ทั้งเรื่องโรคติดต่อ ความปลอดภัย การถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย มันทำไม่ได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องถึงเวลาทบทวนกฎหมาย

ผลสำรวจของมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING ใน 2 พื้นที่ จากการตอบคำถามของกลุ่มตัวอย่าง Sex Worker หรือ กลุ่มผู้ค้าบริการกว่า 900 คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพัทยา พบว่า กลุ่ม Sex Worker แฝงอยู่ในธุรกิจนวดแผนโบราณมากสุด รองลงมาเป็นกลุ่มรับงานอิสระ และบาร์ 

หลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระรอกใหม่ งานและรายได้ของคนกลุ่มนี้หายไป และการปิดตัวของสถานบริการทำให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะออกมารับงานอิสระเพิ่มมากขึ้น นำมาสู่รูปแบบปัญหาค้าบริการที่มีความซับซ้อน และเข้าถึงได้ยาก 

พัทยา จ.ชลบุรี หนึ่งในพื้นที่ทำงานของมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ พบข้อมูลว่า มี Sex Worker ทั้งหญิงและชายมากกว่า 50,000 คน 

 

 

ทีมข่าวได้พูดคุยกับหญิงคนหนึ่ง เธอระบุว่า ขายบริการในเมืองพัทยามาเป็นเวลา 22 ปี และเป็นหนึ่งในอีกพันกว่าคน ที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ รวบรวมข้อมูลว่า เป็นกลุ่มรับงานอิสระ ไม่สังกัดสถานบริการ 

เธอ เล่าว่า เริ่มต้นยืนเรียกลูกค้าริมชายหาด ในช่วงแรกของการทำงานได้ค่าบริการตั้งแต่ 1-3 พันบาท แต่อายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่ยืน หลังการระบาดของโควิด-19 ค่าบริการลดลงเหลือเพียงหลักร้อยเท่านั้น และแทบจะไม่มีคนมาใช้บริการ เธอบอกว่า เพื่อนหลายคนพยายามลงทะเบียน เพื่อขอเงินช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ แต่เนื่องจากเป็นอาชีพค้าบริการ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ 

ด้วยรับงานอิสระ ไม่ได้สังกัดสถานบริการ เธอบอกว่า ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย ทั้งการพิจารณาเลือกรับลูกค้า คุยข้อตกลงที่ชัดเจน และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เธอมองว่า นี่เป็นความรับผิดชอบหนึ่งของอาชีพ

ถึงเราจะทำแบบนี้ เราก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร เราทำเพื่อครอบครัวเรา พวกเราเป็นคนเทาๆ ก็ต้องทำแบบนี้ไป ถ้ามันมีไฟสว่างมา เช่น ให้ลงทะเบียนก็ดีเหมือนกันนะ เราก็กล้าไป เพราะมันก็เป็นอาชีพ

 

จากพัทยา ทีมข่าวตระเวนสำรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามข้อมูลที่ได้จากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ที่ระบุว่าหลังสถานบันเทิงปิดให้บริการ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อย หันมารับงานอิสระมากขึ้น

และทันทีที่มาถึงถนนราชดำเนิน ทีมข่าวพบกับผู้หญิงตามลักษณะที่ได้ข้อมูล จึงทดลองลงไปสอบถาม ได้ข้อมูลว่า ทำเป็นอาชีพ ค่าบริการอยู่ที่ 400 บาท มีคนที่มายืนในลักษณะนี้ ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคน ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเลือกผู้ใช้บริการ โดยพิจารณาถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เช่น ดูจากบุคลิก อยู่ในอาการเมาสุราหรือไม่ แต่ก็มีหลายครั้งที่พบว่า ผู้หญิงกลุ่มนี้ถูกทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ โดยไม่สามารถแจ้งความเอาผิดได้  

 

 

ผลสำรวจของมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังการระบาดของโควิด-19 กลุ่มผู้ค้าบริการมีอายุต่ำสุดอยู่ที่ 13 ปี และสูงสุด 78 ปี บางคนเป็นการกลับมาทำอาชีพนี้ทั้งที่เคยเลิกทำไปแล้ว เป็นการรับงานอิสระเพิ่มมากขึ้น ทำให้รูปแบบการขายบริการในปัจจุบันมีความซับซ้อน คนขายบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และเป็นกลุ่มที่ไม่เปิดเผยตัวเอง เพราะรู้ว่ามีกฎหมายเอาผิดควบคุมอยู่ การให้ความช่วยเหลือ ทั้งเรื่องควบคุมโรคติดต่อ ความปลอดภัย การถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย จึงทำไม่ได้ 

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ระบุว่า การที่อาชีพ Sex Worker ยังถูกตีตราว่าเป็นอาชญากรรม ผ่านพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เห็นได้จากจำนวน Sex Worker ที่ไม่ได้ลดลง และกลับเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องฉบับแรกบังคับใช้มานานกว่า 60 ปี 

ถ้ามองว่ามันคืองาน เขาก็จะต้องได้รับการคุ้มครอง เช่น ถ้าอยู่ในสถานบริการ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ถ้ารับงานอิสระ ก็ไปอยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ การจับ ปรับ และปราม ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คนที่ถูกลิดรอนสิทธิ์ก็คือ คนทำงาน แต่กฎหมายเป็นการไปเพิ่มอำนาจให้กับผู้ที่จะมาหาผลประโยชน์ 

 

ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ยังระบุว่า นอกจากปัญหาเรื่องทัศนคติที่มีต่อคนอาชีพนี้ การมองในเชิงอำนาจและการแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจสีเทา ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การผลักดันให้อาชีพนี้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย เป็นไปได้ยาก

จากข้อมูลพบว่าขณะนี้ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ กำลังรวบรวมรายชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 พร้อมเสนอมาตรการอื่นที่ใช้ควบคุม และทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิความคุ้มครองในฐานะมนุษย์เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ

คลิปวิดีโอ :

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง