ครั้งแรก! จุฬาฯ ฝึก 6 สุนัขดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19

สังคม
16 มี.ค. 64
10:53
1,943
Logo Thai PBS
ครั้งแรก! จุฬาฯ ฝึก 6 สุนัขดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19
ครั้งแรกในไทย! คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ เผยผลงานวิจัยฝึกฝูงสุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 6 ตัวแรกพิสูจน์ผลแม่นยำถึง 95% หลังทดสอบดมกลิ่นเหงื่อที่ซับในสำลี และถุงเท้าจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ เตรียมส่งประจำการท่าอากาศยาน เสริมการคัดกรองปกติ

วันนี้ (16 มี.ค.2564) เว็บไซต์ข่าวสารจุฬาฯ เผยแพร่ข่าวดีเกี่ยวกับงานวิจัยของคณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลงานล่าสุด ฝึกฝูงสุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 6 ตัวแรกของประเทศ พิสูจน์ผลแม่นยำถึง 95% และพร้อมประจำการท่าอากาศยาน เสริมปฏิบัติการคัดกรองปกติ

ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ”  กล่าวว่า เนื่องจากการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ COVID-19 ด้วยอุปกรณ์วัดอุณหภูมิแบบต่างๆ เป็นวิธีการคัดกรองเบื้องต้น และได้ผลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ และแสดงอาการแล้วเท่านั้น ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่สามารถตรวจพบได้ แต่สุนัขที่ได้รับการฝึกมาแล้วสามารถทำสิ่งนี้ได้

ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

 

จึงเป็นที่มาของงานวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ” ซึ่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

สุนัขมีความสามารถในการดมกลิ่นดีกว่าคนถึง 50 เท่าจึงคิดนำศักยภาพนี้มาใช้ โดยเฉพาะสุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ที่คณะวิจัยเลือกมาฝึก ทดสอบในโครงการนี้ 6 ตัว สายพันธุ์นี้เป็นสุนัขที่มีโพรงจมูกยาว มีประสาทสัมผัสรับรู้กลิ่นที่ไวและดี อุปนิสัยเป็นมิตรและฝึกง่าย
ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

พบความแม่นยำ 94.8% 

ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี กล่าวอีกว่า จากการทดสอบสุนัขฝูงนี้ มีความแม่นยำในการพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการสูงถึง 94.8% เทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ที่มีการวิจัยใช้สุนัขตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ อาทิ ฟินแลนด์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย เป็นต้น

สำหรับขั้นตอนการวิจัย ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างเหงื่อของผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นสารคัดหลั่งที่มีการยืนยันแล้วว่าไม่มีการเจือปนของเชื้อไวรัส โดยจะซับเหงื่อบริเวณใต้รักแร้ด้วยสำลีและถุงเท้า เก็บไว้ในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ แล้วนำสำลีและถุงเท้าดังกล่าวมาใส่กระป๋องเพื่อให้สุนัขดมกลิ่น

เมื่อสุนัขได้กลิ่นก็จะนั่งลงทันที เพื่อบอกว่าคนๆ นี้ติดเชื้อแม้จะไม่แสดงอาการ กระบวนการทดสอบทั้งหมดปลอดภัยต่อทั้งตัวสุนัขและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

 

ด้านรศ.สพ.ญ.ดร.สมพร เตชะงามสุวรรณ สัตวแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า คณะวิจัยใช้ตัวอย่างจากเหงื่อของผู้ติดเชื้อ COVID-19 และให้สุนัขดมกลิ่นในระยะห่าง เครื่องมือต่างๆ ก็ปลอดเชื้อ

งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกใช้เวลา 2 เดือน เป็นการทดสอบความสามารถและฝึกสุนัขในการแยกแยะกลิ่นผู้ติดเชื้อได้อย่างแม่นยำ ว่องไว และแน่นอน โดยมีกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 และบริษัท พี คิว เอ แอสโซซิเอท จำกัด ร่วมสนับสนุนการเตรียมตัวและฝึกสุนัข

ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

ภาพ:คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

เตรียมส่งประจำการที่สนามบิน-ท่าเรือ

ส่วนขั้นต่อไปจะการทดลองปฏิบัติจริงที่สนามบิน ท่าเรือ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม และฝึกสุนัขให้ดมกลิ่นจากเท้าของคนส่วนในระยะที่สาม เป็นการวิจัยต่อยอดเครื่องมือคัดกรองรูปแบบใหม่ เช่น เซ็นเซอร์เพื่อบ่งชี้ผู้เข้าข่ายติดเชื้อ โดยคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.ธรรมนูญ หนูจักร และ อ.ดร.ชฎิล กุลสิงห์

โครงการนี้นับเป็นต้นแบบในการฝึกสุนัขเพื่องานทางการแพทย์ชุดแรกของประเทศไทย ซึ่งในอนาคตจะมีการต่อยอดฝึกสุนัขเพื่อตรวจโรคอื่นๆ อาทิ โรคเบาหวาน ซึมเศร้า มาลาเรีย และโรคอัลไซเมอร์

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง