เปิดปม : ตัดตรวนบ้านนกแอ่น

สังคม
16 มี.ค. 64
14:46
4,964
Logo Thai PBS
เปิดปม : ตัดตรวนบ้านนกแอ่น
ธุรกิจบ้านนกแอ่นที่อยู่ในแดนสีเทามานานกำลังจะได้รับรองถูกต้องตามกฎหมาย หลังจาก กรมอุทยานฯ คาดว่า จะประกาศบังคับใช้ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับที่ผู้ประกอบการรังนกบ้านรอคอย พ.ค.นี้

“นกแอ่น” ว่าที่สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่

ผู้คนจำนวนหนึ่งยังสับสนระหว่างนกแอ่นกับนกนางแอ่นซึ่งเป็นสัตว์สองชนิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นกนางแอ่นทำรังจากเศษไม้ใบหญ้า แต่รังของนกแอ่นสร้างจากน้ำลายซึ่งเป็นรังที่คนนำมาบริโภค ในประเทศไทยมีรังของนกแอ่นสองชนิดที่คนเก็บมาบริโภคและขาย ได้แก่ รังของนกแอ่นกินรัง (Aerodramus fuciphagus) ซึ่งให้รังสีขาว และรังนกแอ่นหางสี่เหลี่ยมหรือนกแอ่นรังดำ (Aerodramus maximus) ซึ่งรังมีสีดำจากการผสมระหว่างขนกับน้ำลายของมัน

นกแอ่นทั้งสองชนิดต่างเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครองของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

                                                     ภาพ : รังนกแอ่นกินรัง

                                                  ภาพ : รังนกแอ่นหางสี่เหลี่ยม หรือ นกแอ่นรังดำ 

 

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ปัจจุบันมีบ้านนกแอ่นทั่วประเทศกว่า 17,800 หลัง พื้นที่ที่มีบ้านนกแอ่นมากที่สุดคือ ภาคใต้ 10,000 หลัง ภาคตะวันออก 4,000 หลัง ขณะที่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เริ่มมีแนวโน้มพบธุรกิจบ้านนกแอ่นมากขึ้นเช่นกัน

 

นายกมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่น (ประเทศไทย) ประเมินว่า จำนวนบ้านนกแอ่นในปัจจุบันมีตัวเลขสูงกว่าชุดข้อมูลที่กรมอุทยานฯ รวบรวมได้

เขาประมาณการว่า ขณะนี้ มีบ้านนกแอ่นมากกว่า 3 หมื่นหลัง ผลผลิตต่อปีอยู่ที่ 100 - 150 ตัน และในตอนนี้ไม่มีจังหวัดไหนในประเทศไทยที่ไม่มีบ้านนกแอ่น

ธุรกิจสร้างบ้านนกแอ่นโตหลังรัฐเปิดทาง

เนื้อหาบางตอนในมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  ระบุว่า ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา 14 มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่น

กฎหมายฉบับนี้ นับเป็นประตูบานแรก ที่เปิดช่องให้ธุรกิจบ้านนกแอ่น รวมถึงรังนกบ้าน สามารถได้รับการรับรองตามกฎหมายเช่นเดียวกับสัมปทานรังนกถ้ำ และ ผู้ที่ได้รับอนุญาต สามารถเก็บ ทำลาย หรือ ครอบครองรังของสัตว์ป่าคุ้มครองได้

 

แผ่นไม้ขนาดยาวเซาะร่องเพื่อให้นกแอ่นใช้เกาะและทำรัง เรียกว่า ไม้ตีรัง ส่วนใหญ่ทำจากไม้แคมปัส สยาหิน และสยาแดง นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย

 

ความเฟื่องฟูของธุรกิจรังนกบ้านทำให้ผู้ประกอบการโรงไม้ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส หันมาขายไม้ตีรังแทนที่จะส่งไม้ทำเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น

นายณัฐพงษ์ บุญอนันต์ ผู้ประกอบธุรกิจวางระบบบ้านนกแอ่นและขายไม้ตีรัง อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขส่งขายไม้ตีรังบ้านนกแอ่นปี 2562 พุ่งขึ้นถึง 20 - 22 ตันในบางเดือน จากปกติบริษัทของเขาส่งไม้จากสุไหงโกลกใต้สุดของไทยไปจังหวัดต่างๆ ที่ปริมาณเดือนละ 8-12 ตัน

เมื่อก่อนลูกค้ากระจุกตัวอยู่ภาคใต้ แต่ปัจจุบันพบว่าภาคเหนือ ภาคอีสานก็มี ไกลสุดที่เคยส่งไม้ตีรังไปขายคือประเทศกัมพูชา ผมต้องบรรทุกไม้ไปทางเรือ ส่งออกจากมาเลเซีย ไม่ต้องผ่านไทย ขณะที่ในประเทศไทย รถบรรทุกเคยวิ่งไกลจากใต้สุดไปเหนือสุด คือ เชียงรายและหนองคาย

สาเหตุที่ไม้สามชนิด คือ สยาแดง สยาหิน และแคมปัส ได้รับความนิยมจากผู้ทำบ้านนกแอ่น เนื่องจากไม่มีกลิ่นที่รบกวนการอยู่อาศัยของนก อายุใช้งานทนทานประมาณ 10 ปีขึ้นไป เจ้าของบ้านนกแอ่นจึงไม่ต้องเปลี่ยนไม้ตีรังบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้นกแอ่นหนีไปอยู่ที่อื่นได้

นายณัฐพงศ์ มองว่า การรับรองให้ธุรกิจบ้านนกแอ่นถูกกฎหมาย ไม่ได้ทำรายได้ให้กับผู้ประกอบการบ้านนกเท่านั้น แต่ยังทำให้อาชีพเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจค้าไม้ตีรัง ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและทำระบบบ้านนกแอ่น ธุรกิจเก็บรังนก ธุรกิจล้างรังนก เติบโตพร้อมกันไปด้วย ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนหลากหลายกลุ่ม

ตั้งคำถาม ทช. บ้านนกแอ่นถูก กม.เมื่อไร ?

3 ส.ค. 2563 นายสวัสดิ์ สมัครพงศ์ สมาชิกวุฒิสภาตั้งกระทู้ถามนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงแนวทางปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ และกฎหมายลำดับรอง เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรสร้างบ้านรังนกแอ่นสามารถขึ้นทะเบียนได้ถูกต้องตามกฎหมาย และ มีแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบกิจการเกี่ยวกับธุรกิจรังนกแอ่นได้ครบวงจร สามารถส่งออกรังนกแอ่นเพื่อการแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้อย่างเสรีเพื่อนำรายได้มาพัฒนาประเทศหรือไม่

นายวราวุธ ศิลปอาชา ชี้แจงว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการยกร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย และมีไว้ครอบครองซึ่งรังของนกนางแอ่นกินรังจากบ้านหรือที่อยู่อาศัย โดยแยกระเบียบและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรังนกนางแอ่นกินรังในถ้ำและรังนกนางแอ่นกินรังจากบ้านหรือที่อยู่อาศัยออกจากกันอย่างชัดเจน

และเพื่อความชัดเจนในการตีความและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการจัดทำร่างระเบียบดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการเก็บรังนกนางแอ่นกินรัง เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยการออกระเบียบดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนสามารถมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกนางแอ่นได้อย่างถูกกฎหมาย และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถประกอบกิจการเกี่ยวกับธุรกิจรังนกนางแอ่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ

คาดประกาศใช้ กม.ลูกรับรองบ้านนกแอ่น พ.ค.นี้ 

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ คาดว่า ภายใน พ.ค. 2564 ร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับที่ผู้ประกอบการบ้านนกแอ่นรอคอย จะประกาศบังคับใช้

ฉบับแรก ได้แก่ ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย และครอบครองรักนกแอ่นกินรังและนกแอ่นรังดำ

ฉบับที่สอง คือ ร่างระเบียบของกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ครอบครองรังนกแอ่น  ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง