ความเป็นไปได้ "กกล.รักษาสันติภาพ" ในเมียนมา

การเมือง
18 มี.ค. 64
17:35
7,278
Logo Thai PBS
ความเป็นไปได้ "กกล.รักษาสันติภาพ" ในเมียนมา
เกือบ2เดือนแล้วหลังเกิดวิกฤตทางการเมืองในเมียนมาจากเหตุรัฐประหารนำมาสู่การปะทะระหว่างทหารเมียนมากับผู้ประท้วง และมีข้อสังเกตว่าสถานการณ์จะถึงขั้นที่สหประชาชาติต้องส่งกกล.เข้าไปช่วยแก้ปัญหา ซึ่งไทยก็อาจะเป็นชาติแรกๆที่ถูกเลือกเข้าร่วมในบทบาทนี้

ภารกิจลงพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ จ.กาญจนบุรี จนถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ช่วงที่ผ่านมา

ถูกจับตามองว่า เป็นการเตรียมรับผลกระทบจากการเมืองในเมียนมา ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากมีเหตุปะทะและอาจมีชาวเมียนมาหลบหนีเข้ามาฝั่งไทยในช่วงที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด

 

สถานการณ์ที่เปราะบางในเมียนมาขณะนี้ จึงเกิดข้อสังเกตว่า อาจถึงขั้นต้องใช้กลไกสหประชาชาติ ผ่านปฏิบัติการรักษาสันติภาพและทหารไทย ที่มีประสบการณ์ ในภารกิจรักษาสันติภาพมาแล้ว ในหลายประเทศ อาจจะมีบทบาทสำคัญขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่

นายทหารที่เชี่ยวชาญด้านรักษาสันติภาพ ชี้ถึงหลักการทางทฤษฎีในการรักษาสันติภาพว่า มีด้วยกันหลายวิธีและไม่จำเป็นต้องใช้กองกำลังรักษาสันติภาพเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาท่านั้น และขั้นต้นต้องใช้หลักการทางการทูตก่อน

 

ผ่านสองกลไกหลักคือกลไกของสหประชาชาติ และกลไกระดับภูมิภาค ซึ่งหากเป็นในสถานการณ์เมียนมา ก็คือกรอบของอาเซียนที่เฝ้ามองสถานการณ์ในเมียนมาอยู่

สำหรับหลักการส่งทหารตามกรอบสหประชาชาติ จะเป็นไปตามความเห็นชอบของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ โดยต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของประเทศว่าไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกัน

 

ส่วนการส่งทหารไปรักษาสันติภาพของไทย ยังต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ย้อนเหตุการณ์ส่งทหารไทยไปปฏิบัติภารกิจสันติภาพนอกประเทศ ถ้าไม่นับกรณีส่งทหารไปร่วมในสมรภูมิคาบสมุทรเกาหลีในอดีต ถือว่าการส่งทหารไปรักษาสันติภาพที่ติมอร์ตะวันออกในช่วงปี 2543 มีการจัดกำลังมากที่สุดราว 7-8 พันคน และทำให้บทบาทของทหารไทยได้รับการชื่นชมจากสหประชาชาติ

 

นำไปสู่การส่งทหารไทย ไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพในอีกหลายประเทศ ทั้งปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรมไทย- อิรัก, การร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ทางทหารให้กับกองกำลังรักษาสันติภาพในเซียร์ราลีโอน, การจัดส่งทหารช่างไปปฏิบัติภารกิจที่อัฟกานิสถาน

การจัดส่งผู้สังเกตการณ์ทางทหารในภารกิจรักษาสันติภาพที่บุรุนดีทวีปแอฟริกา รวมไปถึงการส่งทหารเรือไทยร่วมแก้ปัญหาโจรสลัดโซมาเลียในอ่าวเอเดน

ไม่เว้นแม้แต่เหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ก็มีทหารไทยเป็นผู้สังเกตการณ์ร่วมกับสหประชาชาติ จนถึงขณะนี้ก็ยังมีทหารช่างของไทยปฏิบัติภารกิจอยู่ในเซาท์ซูดาน

 

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่าสถานการณ์ในเมียนมามีบริบทที่ต่างออกไป และโอกาสที่จะถึงขั้นส่งกองกำลังพิเศษของสหประชาชาติเข้าไปแก้ปัญหาในเมียนมาน่าจะเป็นไปได้ยาก และบทบาททหารไทยน่าเน้นในเรื่องมนุษยธรรมเช่น จัดหาพื้นที่รองรับชาวเมียนมาที่หนีความรุนแรงเข้ามาในไทย

และเชื่อว่าสหประชาชาติจะดำเนินการรุกคืบติดตามสถานการณ์ในเมียนมา แต่ท่าทีของอาเซียนโดยมีอินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนจะไม่ดำเนินการใดๆที่เป็นการแทรกแซงเมียนมา

 

เมียนมาจะใช้กลไกอาเซียนเป็นช่องทางเดียวที่เหลืออยู่ในการสื่อสารไปยังประชาคมโลก เช่น โรดแมป

สำหรับภารกิจทหารไทยในการรักษาสันติภาพ นอกจากเป็นไปตามพันธกรณีที่ไทยมีร่วมกับสหประชาชาติแล้ว ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพกำลังพลท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่ไม่ได้เป็นประเทศคู่ขัดแย้งกับใคร สามารถสนับสนุนงานทั้งด้านพัฒนาและปฏิบัติทางยุทธวิธี

ขอบคุณภาพ : UNMISS กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ ไทย/เซาท์ซูดาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง