เปิดกลไกความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา

การเมือง
22 มี.ค. 64
13:43
1,927
Logo Thai PBS
เปิดกลไกความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา
นายกรัฐมนตรี-โฆษก ทบ.ไม่เพียงแจงประเด็นทหารไทยส่งเสบียงให้ทหารเมียนมาว่า เป็นการซื้อขายผ่านพ่อค้าแม่ค้าตามปกติ แต่ยังย้ำถึงความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังตกลงชัดเจนไม่ได้ว่าเป็นของประเทศใด

พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ที่มีความละเอียดอ่อนและความซับซ้อนของชาติพันธุ์ตามตะเข็บชายแดน ยิ่งตอกย้ำความอ่อนไหวของสถานการณ์มากขึ้น หลังการรัฐประหารในเมียนมา และการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล และจากกรณีการเผยแพร่ภาพในสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า การส่งเสบียงจากประเทศไทย ให้ทหารเมียนมา บริเวณชายแดนแม่น้ำสาละวิน

 

เป็นข้อกังวลให้ พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก ออกมาชี้แจงว่า การค้าขายตามแนวชายแดนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ยังเป็นไปตามปกติ ภายใต้มาตรการควบคุมการป้องกันโรค COVID-19 และกฎหมายระเบียบการข้ามแดนของบุคคลและสินค้า-สิ่งของ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนส่งเสบียงให้กองทัพทหารเมียนมา แต่ซื้อขายผ่านพ่อค้าตามปกติ

เนื่องจากหลายสิบปีที่แล้ว มีทหารเมียนมา และประชาชน มาอาศัยอยู่บนเส้นเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่สูงบนภูเขา เจ้าหน้าที่จึงได้เจรจาให้กลับมาอยู่บนพื้นที่ราบด้านล่าง ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องส่งเสบียงอาหารดูแล ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ตามหลักมนุษยธรรม

พื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีการแบ่งชัดเจนว่า เป็นของประเทศใด จึงไม่ต้องการให้มีบุคคลใดไปอาศัยอยู่ หรือให้เข้ามาซื้อสินค้าในเขตหรือตลาดของประเทศไทย จึงให้สั่งซื้อโดยตรง กับพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความมั่นคง

การชี้แจงของโฆษกกองทัพบก เกิดขึ้นหลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยทหารที่ดูแลในพื้นที่ ทั้งกองกำลังนเรศวร และกองทัพภาคที่ 3

สะท้อนภาพของกองทัพบก ในการปฏิบัติตามแนวชายแดน ด้วยความระมัดระวังอย่างสูง ในช่วงที่ประเทศเพื่อนบ้าน กำลังควบคุมสถานการณ์ภายใน

ด้วยเมียนมาเป็นประเทศ ที่มีความสัมพันธ์ทางทหารที่ดี กับไทยมาตลอด แม้ตามแนวชายแดน จะยังมีพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน

 

หากมองความสัมพันธ์ของไทย-เมียนมา มีกลไกความร่วมมือทางทหาร และรักษาความสงบเรียบร้อย ตามแนวชายแดนที่รัดกุม โดยมีการปรับให้แน่นแฟ้นมากขึ้นในช่วงปี 2556

สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงที่มีการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ในโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย

ปัจจุบันช่องทางประสานความร่วมมือชายแดนไทย-เมียนมา ในด้านความมั่นคงมี 3 กลไกหลักคือ คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา หรือ TBC ประสานความร่วมมือระดับท้องถิ่นมีผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจในแต่ละพื้นที่เป็นประธานกรรมการ

 

คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-เมียนมา (RBC) แบ่งเป็น 3 พื้นที่รับผิดชอบคือกองทัพภาคที่ 1 มีแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธานกรรมการ พื้นที่รับผิดชอบกองทัพภาคที่ 3 มีแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานกรรมการ และพื้นที่รับผิดชอบกองทัพภาคที่ 4 มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานกรรมการ

 

และคณะกรรมการระดับสูงไทย-เมียนมา (High Level Committee) -HLC โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานกรรมการ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือทางทหารระหว่างกองทัพไทย-เมียนมา ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาความมั่นคง สลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

 

ซึ่งเวทีนี้มี พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา นั่งเป็นประธาน มาตั้งแต่สองประเทศ เริ่มมีความร่วมมือตั้งคณะกรรมการ HLC ในปี 2556

และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน HLC ฝ่ายไทยคนแรก ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังนั่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ก่อนจะเกิดเหตุรัฐประหารในไทยอีก 1 ปีต่อมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง