จับตาทั่วโลกดัน "วัคซีน พาสปอร์ต" ฟื้นเศรษฐกิจ

ต่างประเทศ
22 มี.ค. 64
18:20
719
Logo Thai PBS
จับตาทั่วโลกดัน "วัคซีน พาสปอร์ต" ฟื้นเศรษฐกิจ
แนวคิด "วัคซีน พาสปอร์ต" เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากรัฐบาลของหลายประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ต่างเริ่มพัฒนากันอย่างจริงจัง แต่กลับถูกตั้งคำถามว่าจะทำให้การกำหนดมาตรฐานเดียวกันเป็นเรื่องยากหรือไม่

วันนี้ (22 มี.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การใช้ วัคซีน พาสปอร์ต ถูกพูดถึงมากขึ้น หลังจากหลายประเทศตั้งเป้าฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว กรีซ ไซปรัส และอิสราเอล ทำข้อตกลงใช้ กรีน พาสปอร์ต เพื่อเปิดการท่องเที่ยวในเดือน เม.ย.นี้

ส่วนกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศ กำลังพิจารณาวางมาตรฐานสำหรับการใช้ วัคซีน พาสปอร์ต ร่วมกัน โดยสหภาพยุโรปตั้งเป้านำ วัคซีน พาสปอร์ต มาใช้ในช่วงฤดูร้อน เพื่อฟื้นเศรษฐกิจในกลุ่มชาติสมาชิก

ขณะที่บางประเทศได้พัฒนาแอปพลิเคชันให้ประชาชนดาวน์โหลด เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานในการเดินทาง เช่น สเปน ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะใช้ วัคซีน พาสปอร์ต ในเดือน พ.ค.นี้

 

 



ภาพนี้เป็นตัวอย่าง วัคซีน พาสปอร์ต ในรูปแบบดิจิทัลของสหภาพยุโรป หรือ Digital Green Certificate ข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าจอ จะมีข้อมูลส่วนตัว ประวัติการฉีดวัคซีน ยี่ห้อวัคซีน และสถานที่ออกใบรับรอง เช่น ผู้ถือ วัคซีน พาสปอร์ต คนนี้ ได้วัคซีนไฟเซอร์-บีออนเทค โดสที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเงื่อนไขของ Digital Green คือ วัคซีน COVID-19 จะต้องได้ไฟเขียวจากสำนักงานยายุโรปเท่านั้น

ขณะที่จีนได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน Health Passport เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเดินทางข้ามพรมแดน โดยแอปพลิเคชันจะแจกแจงรายละเอียดผลตรวจ ประวัติการฉีดวัคซีน รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ

 

 

 

ไม่เฉพาะรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่กำลังพัฒนา วัคซีน พาสปอร์ต เนื่องจากองค์กรต่างๆ เริ่มขยับตัว เช่น กรณีการพัฒนาแอปพลิเคชัน CommonPass ที่ได้รับการสนับสนุนโดย World Economic Forum โดยเอกสารข้อมูลสุขภาพ ผลตรวจ COVID-19 และประวัติการฉีดวัคซีน จะถูกบันทึกไว้ในแอปพลิเคชันนี้

ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแสดงข้อมูลสุขภาพให้เจ้าหน้าที่สนามบินทราบได้ทันที ด้วยการสแกน QR Code แต่การพัฒนาแอปพลิเคชัน วัคซีน พาสปอร์ต ขึ้นมาจำนวนมาก จะทำให้ทั่วโลกมีหลายมาตรฐานหรือไม่

 

 



ขณะเดียวกัน แนวคิด วัคซีน พาสปอร์ต อาจนำไปสู่ปัญหาด้านจริยธรรม อย่างการสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างกลุ่มเสี่ยงสูงกับกลุ่มเสี่ยงต่ำ หรือระหว่างประเทศรายได้สูงกับประเทศรายได้ต่ำ ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมาจะอยู่ในร่างกายนานเท่าไร

นอกจากนี้ การมี วัคซีน พาสปอร์ต อาจทำให้ประชาชนละเลยการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคด้วย ถ้าทั่วโลกยังไม่สามารถกำหนดมาตรฐานสากลและเร่งเปิดประเทศอาจยิ่งส่งผลเสียมากกว่าผลดีได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เข็มแรก "บอริส จอห์นสัน" ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา

WMO ชี้ COVID-19 มีแนวโน้มเป็นโรคประจำฤดูกาล

"โมเดอร์นา" เริ่มทดสอบวัคซีนโควิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง