ผู้ต้องกักติดเชื้อส่งผลตัวเลข COVID-19 พุ่ง 401 คนเสียชีวิต 1 คน

สังคม
23 มี.ค. 64
11:53
850
Logo Thai PBS
ผู้ต้องกักติดเชื้อส่งผลตัวเลข COVID-19 พุ่ง 401 คนเสียชีวิต 1 คน
วันนี้ (23 มี.ค.) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม 401 คน รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,277 คน หายป่วยแล้ว 26,766 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมเสียชีวิตสะสม 92 คน ขณะที่ สธ.ระบุผู้ต้องกักติดเชื้อรวม 395 คน จำกัดอยู่ในโรงพยาบาลสนามไม่ออกนอกชุมชน

วันนี้ (23 มี.ค.2564) ศูนย์ข้อมูล COVID19 รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 401 คน รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,277 คน หายป่วยแล้ว 26,766 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมเสียชีวิตสะสม 92 คน 

โดยผู้ติดเชื้อในประเทศ 383 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 46 คน กทม.29 คน ขอนแก่น 1 คน นครปฐม 9 คน ปทุมธานี 1 คน สมุทรสาคร 5 คน นนทบุรี 1 คน และการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 337 คน แบ่งเป็น กทม.5คน กทม.(สถานกักกันตม.) 318 คน นครปฐม 2 คน สมุทรสาคร 12 คน

 

สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นชายไทยอายุ 75 ปี มีโรคประจำตัว โรคลิ้นหัวใจรั่ว ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ อาศัยอยู่ใน กทม. โดยวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เข้ารับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ผลตรวจยืนยันพบเชื้อ COVID-19 วันที่ 15 มี.ค.อาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา

 

ผู้ต้องกักติดเชื้อสะสม 395 คน 

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผอกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีสถานกักกันตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบางเขน กทม.รับผู้ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายจากทั่วประเทศมาดำเนินคดี เริ่มตรวจพบผู้ต้องกักติดเชื้อเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 ตรวจพบรวม 9 คน เป็นผู้ต้องกักชาวเนปาล 1 คน ผู้ต้องกักแรกรับที่ย้ายมาจากสุไหงโกลก 6 คน และผู้ต้องกักรายเดิม 2 คน ต่อมาวันท่ี่ 13 มี.ค. ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 52 คนเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกลุ่มสุไหงโกลก 40 คน และผู้ต้องกักแรกรับติดเชื้อ 12 คน

ส่วนวันที่ 15 มี.ค.พบผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อชาวเนปาลอีก 16 คนรวมทั้งหมด 77 คน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปคัดกรองเชิงรุกในระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.โดยตรวจผู้ต้องกักและเจ้าหน้าที่ทุกคนรวม 1,556 คนพบติดเชื้อเพิ่มอีก 318 คนคิดเป็นร้อยละ 20.4 ทำให้กลุ่มก้อนนี้มีผู้ติดเชื้อสะสม 395 คน

 

ชี้จำกัดวงไม่แพร่เชื้อ-ไม่ให้ออกไปชุมชน 

สำหรับการป้องกันควบคุมโรค ได้แยกผู้ต้องกักติดเชื้อออกจากผู้อื่น งดการย้ายผู้ต้องกักระหว่างห้องงดรับผู้ต้องกักใหม่เข้ามา และประสานงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สโมสรตำรวจ จำนวน 120 เตียง ซึ่งสามารถขยายได้ 250 เตียง และเร่งฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ต้องกัก โดยฉีดแล้วมากกว่า 70 คน กรมควบคุมโรควางแผนดำเนินการตรวจซ้ำใน 7 วันและ 14 วันต่อไป ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ การให้อยู่โรงพยาบาลสนามถือว่ามีความเหมาะสม เมื่อครบระยะเวลาก็ไม่สามารถแพร่โรคต่อได้ จะผลักดันกลับประเทศตามกฎหมาย

การจำกัดพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นการขีดวงไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังคนอื่น ระบบการดูแลผู้ต้องกักถือเป็นพื้นที่เฉพาะ ไม่มีการออกไปสู่ชุมชน ขอให้วางใจ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดรพ.สนามหลังสโมสรตำรวจรองรับผู้ต้องกักติดโควิด 297 คน

พบผู้ต้องกัก "ตม.บางเขน-สวนพลู" ติดเชื้อเพิ่ม 297 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง