เคาะพักทรัพย์-พักหนี้ กู้วิกฤตธุรกิจท่องเที่ยว

เศรษฐกิจ
23 มี.ค. 64
19:14
714
Logo Thai PBS
เคาะพักทรัพย์-พักหนี้ กู้วิกฤตธุรกิจท่องเที่ยว
ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ออกมาตรการ "พักทรัพย์-พักหนี้" พร้อมปรับ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท หวังช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีที่เสี่ยงเป็นหนี้เสีย หลังประเมินการท่องเที่ยวอาจใช้เวลาฟื้นตัวนานขึ้นไม่น้อยกว่า 5 ปี

วิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา สถาบันการเงินแทบไม่ได้ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน ภายใต้ พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยยอดปล่อยสินเชื่อรวมเพียงประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน พร้อมกับมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือ Asset warehousing

วันนี้ (23 มี.ค.2564) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการโกดังหนี้จะช่วยปิดช่องโหว่ สำหรับกิจการที่อาจใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าคาด เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่อาจใช้เวลาฟื้นตัว 5 ปี แต่การปรับโครงสร้างหนี้ปกติ ไม่สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการ เพราะต้องชำระดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทั้งที่ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวสุ่มเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะขายทรัพย์ในราคาต่ำเกินจริง แต่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ผู้ประกอบการ สามารถตีโอนทรัพย์ให้สถาบันการเงิน เพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยได้สิทธิเช่าหรือซื้อคืนทรัพย์เป็นลำดับแรก ในราคาตกลงกันพร้อมกับได้วงเงินเสริมสภาพคล่องวงเงินเท่ากับมูลค่าทรัพย์ และยังสิทธิประโยชน์ทางภาษี จากการตีโอนรายได้ การโอน จดจำนองทรัพย์ เหลือร้อยละ 0.01 โดยวงเงินดำเนินโครงการนี้ 1 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้แบงก์ชาติมอบนโยบายให้สถาบันการเงินคัดกรองผู้ประกอบการที่ไม่สามารถชำระหนี้ ณ สิ้นเดือน ก.พ.2564 ก่อนกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติผู้เข้าโครงการและเริ่มดำเนินโครงการ ซึ่งต้องการพักทรัพย์ในระยะเวลา 3-5 ปี และต้องการกลับมาดำเนินกิจการ ในเดือน พ.ค.

น.ส.สุพรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 กล่าวว่า มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ไม่ได้กำหนดเกณฑ์รายได้ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยผู้ประกอบการที่เริ่มไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติสามารถเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อให้สถาบันการเงินพิจารณาทรัพย์ที่จะใช้เป็นหลักประกันในโครงการ ซึ่งต้องมีศักยภาพระดับหนึ่งและมีโอกาสฟื้นตัวในระยะ 3-5 ปี

เชื่อว่าสถาบันการเงินจะไม่กดราคาทรัพย์เพราะจะมีผลต่อการขายคืนภายหลัง และหากดำเนินการอย่างเป็นธรรมจะช่วยลดภาระหนี้เสียของสถาบันการเงินด้วย

ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะประธานสภาสถาบันการเงินของรัฐ เป็นห่วงว่าเกณฑ์กำหนดรายได้เอสเอ็มอีที่ไม่ชัดเจนอาจกระทบธุรกิจรายย่อยเล็ก ๆ ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ได้

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลนวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท โดยปรับเกณฑ์ช่วยขยายวงเงินสินเชื่อต่อรายจากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท พร้อมกับปรับเพิ่มดอกเบี้ยจูงใจสถาบันการเงินจากเดิม ร้อยละ 2 เป็นเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ตลอดอายุสัญญา 5 ปี โดยกระทรวงการคลัง อุดหนุนดอกเบี้ย 6 เดือนแรก ในอัตราไม่เกินร้อยละ0.01 / 1-2 ปี ไม่เกินร้อยละ 2 และปีที่ 5 ไม่เกิน ร้อยละ 5 ควบคู่กับ ให้ บสย. เพิ่มสัดส่วนชดเชยความเสี่ยงหนีัเสีย ที่ร้อยละ 40 เพิ่มเวลาค้ำจาก 2 ปี เป็น 10 ปี และ ขยายอายุสินเชื่อ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี

ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ และชุดมาตรการภาษีสนับสนุนมาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกฤษฎีกาจึงยังไม่มีผลการบังคับ แต่สถาบันการเงินสามารถเตรียมการต่าง ๆ คาดว่าวงเงินดำเนินโครงการ ทั้ง 3.5 แสนล้านบาท จะเพียงพอและช่วยผู้ประกอบการอย่างทันท่วงที

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง