ทร.ฝึกภาคสนาม/ทะเล -ไฮไลท์พิเศษฝึกยิงฮาร์พูนกลางทะเลอันดามัน จ.พังงา

การเมือง
24 มี.ค. 64
12:57
556
Logo Thai PBS
ทร.ฝึกภาคสนาม/ทะเล -ไฮไลท์พิเศษฝึกยิงฮาร์พูนกลางทะเลอันดามัน จ.พังงา
ทร.ฝึกภาคสนาม/ทะเลในการฝึก ทร.64 ฝั่งทะเลอันดามันด้านจ.พังงา-ภูเก็ต รับมือภัยคุกคามและการรบสมัยใหม่ พร้อมฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนที่มีขีดความสามารถถึงขั้นจมเรือรบด้วยอาวุธเพียง 1 ลูก

ด้วยเหตุความจำเป็นในการคงความพร้อมรบอย่างต่อเนื่อง เป็นที่มาของการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2564 ซึ่งกองทัพเรือจัดการฝึกต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อบูรณาการกำลังรบของกองทัพเรือทุกหน่วย โดยหมุนเวียนพื้นที่การฝึกทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ภายใต้แผนป้องกันประเทศและการอ้างอิงจากสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดไว้

 

 

ปีนี้ใช้พื้นที่การฝึกภาคทะเลบริเวณทะเลอันดามัน รอยต่อ จ.พังงาและภูเก็ต ในช่วงวันที่ 23 -26 มี.ค. 2564 แบ่งเป็นการฝึกใช้อาวุธบนฝั่งและบนเรือรบกลางทะเล โดยใช้สนามฝึกของกองทัพเรือใกล้กับพื้นที่เขาหน้ายักษ์อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เป็นพื้นที่ปฏิบัติการและจุดตั้งยิงปืนใหญ่ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.)

 

 

ส่วนพื้นที่ทะเลอันดามันบริเวณรอยต่อ จ.พังงาและภูเก็ต มีเรือรบ นำโดย ร.ล.จักรีนฤเบศรลอยลำอยู่กลางทะเล เพื่อทำการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น "ฮาร์พูน" โดย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร.พร้อม ผบ.เหล่าทัพ ร่วมชมการปฏิบัติการครั้งนี้บน ร.ล.จักรีนฤเบศรกลางทะเลอันดามันด้วย

สำหรับการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น "ฮาร์พูน" ถือเป็นการไฮไลท์ของการฝึกกองทัพเรือประจำปีนี้ เนื่องจากการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณสูง ทั้งนี้ปฏิบัติการทั้งบนฝั่งและทางทะเลจะต้องประสานกันภายใต้สถานการณ์การฝึกที่จำลองขึ้น เพื่อรับมือข้าศึกสมมุติที่รุกล้ำอธิปไตยเข้ามา 

 

 

นอกจากบูรณาการกำลังของกองทัพเรือทั้งทางบกและทางทะเล การฝึกกองทัพเรือประจำปี 2564 ยังมีหัวข้อการฝึกสำคัญอื่นๆ เช่น การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และฝึกยิงตอร์ปิโดจากเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ

พร้อมทั้งมีกำลังทางอากาศจากกองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี ของกองทัพอากาศ ซึ่งมีภารกิจหลักดูแลปกป้องน่านฟ้าปลายด้ามขวาน ร่วมทำการฝึกด้วย เพื่อให้พร้อมรับภัยคุกคามในทุกมิติ

 

 

เนื่องจากการรบสมัยใหม่จะอาศัยเพียงการปฏิบัติของเหล่าทัพเดียวไม่ได้ แต่กลไกสำคัญคือการประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารในทุกมิติ ซึ่งการฝึกร่วมต่างเหล่าทัพจะช่วยเสริมทักษะกำลังพลให้มีความเชี่ยวชาญตั้งแต่ระดับองค์บุคคล

และนำไปสู่การวางแผนใช้กำลังทางทหารและการปฏิบัติการรบร่วมที่มีประสิทธิภาพตามวิสัยทัศน์กองทัพไทย เพื่อเป็นกองทัพชั้นนำในภูมิภาค มีนวัตกรรมทันสมัย และปฏิบัติการร่วมอย่างมีประสิทธิภาพทุกมิติ 

 

 

สำหรับคุณลักษณะพิเศษของอาวุธนำวิถีพื้นสู่พื้น "ฮาร์พูน" เป็นอาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำ มีระยะยิงไกลสุดถึง 75 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 135 กม.สามารถตั้งค่าให้อาวุธปล่อยนำวิถีวิ่งเข้าหาเป้าหมายโดยอัตโนมัติ และมีประสิทธิภาพสูงถึงขั้นทำลายเรือฟริเกตขนาดระวางขับน้ำ 2,000 - 5,000 ตันลงมาให้จมลงได้ด้วยลูกอาวุธปล่อยน้ำวิถีเพียง 1 ลูกเท่านั้น  

 

 

อ้างอิงข้อมูลจากกองทัพเรือยังพบว่า ปัจจุบันอาวุธปล่อยนำวิถี "ฮาร์พูน" ได้รับการติดตั้งบนเรือผิวน้ำที่มีสมรรถนะสูงของกองทัพเรือถึง 6 ลำ รวมทั้งบนเครื่องบินลาดตระเวนแบบ F-27 Mk200

โดยกองทัพเรือทำการการฝึกยิงฮาร์พูนมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีแบบพื้นสู่พื้นบน ร.ล.สุโขทัย เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2548 ระยะยิง 40 กม. 

ครั้งที่ 2 ทำการฝึกยิงจากเครื่องบินลาดตระเวน F-27 Mk200 เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2547 ในรูปแบบอาวุธปล่อยนำวิถีแบบอากาศสู่พื้น ระยะยิง 20 - 30 กม. 

ครั้งที่ 3 ทำการฝึกยิงบน ร.ล.นเรศวร เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2552 โดยเป็นการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีแบบพื้นสู่พื้นอีกครั้งในระยะยิง 36.9 กม. ซึ่งทั้ง 3 ครั้งผลการยิงชนเป้า

 

 

สำหรับการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2564 ถือเป็นการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี "ฮาร์พูน" ครั้งที่ 4 ของกองทัพเรือ เพื่อยืนยันความมั่นใจในประสิทธิภาพอาวุธที่เป็นเขี้ยวเล็บของกองทัพเรือและขีดความสามารถของกำลังพล แม้กองทัพจะอยู่ในสภาวะที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง