คัดเลือกแม่แพะเป็นแม่เลี้ยง "ขุนไกร" ลูกเลียงผาพลัดหลง

สิ่งแวดล้อม
25 มี.ค. 64
10:03
1,015
Logo Thai PBS
คัดเลือกแม่แพะเป็นแม่เลี้ยง "ขุนไกร" ลูกเลียงผาพลัดหลง
สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม เตรียมคัดเลือกแม่แพะเพื่อนำมาเป็นแม่เลี้ยงของ "ขุนไกร" ลูกเลียงผาพลัดหลง ขณะเดียวกันได้เพิ่มการดูแลลูกเลียงผาในช่วงที่อากาศร้อนจัด

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2564 สพ.ญ.สุภกานต์ แก้วโชติ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ประจำ สบอ.14 (ตาก) เปิดเผยถึงการดูแล "ขุนไกร" ลูกเลียงผาพลัดหลง ว่า​ ขณะนี้ลูกเลียงผามีน้ำหนัก​ 6​ กิโลกรัม​ จากเดิมหนัก​ 4.7 กิโลกรัม​ โดยให้กินนมแพะในปริมาณขั้นต่ำ 1,500-1,600 มิลลิลิตร/วัน ป้อนทุกๆ 4-5 ชั่วโมง และกระตุ้นให้ขับถ่ายทุกครั้งหลังกินนม ซึ่งพฤติกรรมการกินนมอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังไม่ถึงระดับดีมาก อาจเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ร้อนระหว่างวัน

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

ทั้งนี้ ได้เน้นให้เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดขวดนมและจุกนม ด้วยการนึ่งฆ่าเชื้อทุกครั้ง และกำชับไม่ให้ใช้นมแพะที่เปิดกระป๋องนานกว่า 3 ชั่วโมง โดยให้จดบันทึกการกินนม การขับถ่าย อุณหภูมิร่างกายของลูกเลียงผาทุกวัน และส่งรายงานให้สัตวแพทย์ช่วยประเมินดูแลในทุกๆ เช้าของวันถัดไป หากสภาพอากาศร้อนจัด วัดอุณหภูมิร่างกายเลียงผาได้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส ให้ดำเนินการเช็ดตัวและทำอ่างแช่ได้ไม่เกิน 15-30 นาที

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม ได้ติดสปริงเกอร์รดน้ำบนหลังคาและพื้นดินระหว่างวัน เพื่อลดอุณหภูมิจากอากาศร้อนจัด และปรับสแลนให้อากาศถ่ายเทได้มากขึ้น ซึ่งช่วยให้อุณหภูมิภายในคอกดีขึ้น พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในคอก และเพิ่มถาดน้ำยาฆ่าเชื้อจุ่มเท้าก่อนเข้าคอกทุกครั้ง

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

ส่วนการคัดเลือกแม่แพะ เจ้าหน้าที่ได้สอบถามฟาร์มเลี้ยงแพะในพื้นที่เพิ่มเติมอีก 2 ฟาร์ม ซึ่งเกษตรกรแจ้งว่าพฤติกรรมของแม่แพะมักจะไม่เลี้ยงลูกที่ไม่ใช่ลูกตัวเอง อาจจะต้องทำการเลือกแม่ที่กำลังตั้งท้องใกล้คลอด มาตรวจสุขภาพเตรียมตัวเป็นแม่เลี้ยงลูกเลียงผา

การเลือกแม่แพะจะเลือกในฟาร์มที่มีการจัดการที่ดี มีการทำวัคซีนและถ่ายพยาธิภายในฟาร์ม โดยจะเตรียมเลือกแม่แพะมาตรวจโรค หากผลเลือดผ่านจะนำมาเตรียมดูแลภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนครึ่ง

สำหรับการวางแผนเลี้ยงดูลูกเลียงผา เจ้าหน้าที่จะดูแลจนกว่าลูกเลียงผาจะเริ่มกินอาหารหยาบ เช่น ยอดไม้ ใบไม้ ได้เอง คาดว่าจะเวลาประมาณ​ 5-6 เดือน แล้วจะพิจารณาปล่อยในพื้นที่ที่เหมาะสมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้ารามต่อไป

"หมอฟ้า" สัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่​ 14​ (ตาก)​ เผยความคืบหน้าการดูแล​ "เจ้าขุนไกร"...

โพสต์โดย ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อ วันพุธที่ 24 มีนาคม 2021

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ลูกเลียงผา" พลัดหลงแม่ วิ่งตาม จนท.พิทักษ์ป่ากลับหน่วย

ผู้ว่าฯ สุโขทัย ตั้งชื่อ "ขุนไกร" เลียงผาพลัดหลงแม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง