สมาคมนักกฎหมายฯ ร้องปล่อยตัว "อานนท์" ชั่วคราว

การเมือง
29 มี.ค. 64
13:07
453
Logo Thai PBS
 สมาคมนักกฎหมายฯ ร้องปล่อยตัว "อานนท์" ชั่วคราว
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ผู้พิพากษาพิจารณาคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว นายอานนท์ นำภา พร้อมแกนนำและแนวร่วมราษฎรคนอื่น ขณะที่ศาลอาญากำชับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขัง หลังถูกนำไปตรวจ COVID-19 กลางดึก

วันนี้ (29 มี.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.คอรีเยาะ มานุแช ในฐานะนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นตัวแทนเชิญชวนให้ทนายความ ร่วมกันกันลงชื่อขอยื่นประกันตัว นายอานนท์ นำภา และพวก พร้อมนำรายชื่อทนายความนักสิทธิมนุษยชน จำนวน 188 รายชื่อทั่วประเทศ มายื่นผ่านตัวแทนศาลยุติธรรม

น.ส.คอรีเยาะ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีความพยายามยื่นขอประกันตัว นายอานนท์ และพวก ในชั้นศาลหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว แต่เชื่อว่าหากจำเลยได้รับการประกันตัว จะสามารถมีสิทธิต่อสู้คดีทางกฎหมาย และไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

 

 

ทั้งนี้ ในนามของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องให้ผู้พิพากษาพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อยืนยันเจตจำนงแห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีใจความสำคัญระบุว่า สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรต้นสังกัดที่นายอานนท์เป็นสมาชิก เห็นว่าในหลักการตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติรับรองไว้ว่า ก่อนจะมีคำพิพากษา จำเลยจะถูกปฏิบัติเหมือนผู้กระทำผิดมิได้

ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 ที่ให้สิทธิผู้ต้องหาหารือจำเลย พึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลักฯ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ด้วยหลักการของความเป็นนิติรัฐ สมาคมนักกฎหมายฯ จึงเรียกร้องให้ผู้พิพากษามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายอานนท์ และพวก รวมถึงผู้ต้องหา หรือจำเลยในความผิดที่ถูกจับหรือถูกฟ้อง ในความผิดลักษณะเดียวกันนี้โดยเร็ว

ศาลกำชับ จนท.ราชทัณฑ์ กรณี จม. "อานนท์"

ส่วนที่ศาลอาญา รัชดาฯ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวนายอานนท์ แกนนำกลุ่มราษฎร มาฟังคำสั่งศาลฯ หลังจากเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2564 ศาลฯ นัดไต่สวนคำร้องกรณี นายอานนท์ เขียนจดหมายกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยจากการถูกเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เรียกตัวนายอานนท์, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ไปตรวจ COVID-19 ยามวิกาล ระหว่างถูกคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

 

 

ศาลเห็นว่า แม้ไม่ถึงขนาดเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีการกระทำไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชนที่นานาอารยประเทศให้การรับรองและคุ้มครอง การดำเนินการตรวจร่างกายผู้ต้องขัง หรือย้ายสถานที่คุมขัง หรือกระทำการใดใด กรมราชทัณฑ์จึงต้องดำเนินการในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม สมควร เป็นไปตามระเบียบและแนวทางปฏิบัติ ที่ไม่กระทบกระเทือน ต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตของผู้ต้องขัง

ศาลจึงเห็นว่าการดำเนินงานของเจ้าพนักงานเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องกับพวกเท่าที่ควร และเห็นว่าควรให้เจ้าพนักงานเรือนจำที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวัง เพื่อให้ผู้ร้องกับพวกได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่กฎหมายรับรอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง