ศาลฯสั่งชดใช้คดีจำนำข้าวจีทูจีกว่า 1.6 หมื่นล้าน

อาชญากรรม
29 มี.ค. 64
16:07
17,237
Logo Thai PBS
ศาลฯสั่งชดใช้คดีจำนำข้าวจีทูจีกว่า 1.6 หมื่นล้าน
ศาลปกครองกลางสั่งให้นายมนัส สร้อยพลอย, ภูมิ สาระพล บุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวก ชดใช้ค่าเสียหายคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ รวมกว่า 1.6 หมื่นล้าน

วันนี้ (29 มี.ค.2564) ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีที่นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ผู้ฟ้องคนที่ 1 , นายทิฆัมพร นาทวรทัต ผู้ฟ้องคดีที่ 2, นายอัฐฐิติพงศ์ หรือ อัครพงศ์ ทีปวัชระ หรือช่วยเกลี้ยง ผู้ฟ้องคดีที่ 3 , นายภูมิ สาระผล ผู้ฟ้องคดีที่ 4 , และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ กระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยในคำฟ้องของนายมนัสกับพวกอ้างว่าได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ลงวันที่ 19 กันยายน 2559 ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวก ที่สั่งให้ชดใช้ความเสียหายจากการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในโครงการรับจำนำข้าว

ทั้งนี้ ในคำสั่งกระทรวงพาณิชย์เรียกค่าเสียหายจากนายนายมนัส นายทิฆัมพร และนายอัฐฐิติพงศ์ หรืออัครพงศ์ ทีปวัชระ โดยให้ทั้ง 3 คน ชดใช้ค่าเสียหายคนละ 4,011,544,725.33 บาท ส่วนนายภูมิ ให้ชดใช้ความเสียหาย 2,242,571,739.67 บาท ขณะที่นายบุญทรง ชดใช้ค่าเสียหาย 1,768,973,012.66 บาท โดยคิดคำนวณจากสัญญาซื้อขายข้าว 4 ฉบับ ที่มีการขายข้าวในราคาต่ำท้องตลาด และค่าส่วนต่างจากการส่งมอบข้าวและการชำระเงิน (เบิกข้าวออกมากว่ากว่าจ่ายเงินจริง)

ทั้งนี้ ในคำพิพากษาของศาลปกครองกลางระบุว่าทั้ง 5 คนจงใจกระทำการทุจริต ร่วมกับข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ และภาคเอกชน มีลักษณะแบ่งงานกันทำ และจงใจให้เกิดความเสียหายในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ จึงถือเป็นการละเมิดต่อหน้าที่ และจงใจทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ไม่ทำตามมติ ครม.ที่ถือเป็นนโยบายการบริหารงาน โดยมีการขายข้าวต่อกว่าราคาตลาด และมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงินจากเดิมที่กำหนดให้เปิด LC เพียงอย่างเดียว โดยเพิ่มให้ชำระล่วงหน้าโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารและจ่ายแคชเชียร์เช็คเป็นสกุลเงินบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการส่งมอบข้าว ณ หน้าคลังสินค้า อีกทั้งไม่พบมีการส่งออกข้าวไปประเทศที่สั่งซื้อ กลับมีการนำมาเวียนขายภายในประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันก็มีการแก้ไขสัญญาการซื้อขาย พบมีพิรุธ โดยไปตกลงล่วงหน้าก่อนที่จะมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา

ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และมีการมอบหมายอีกทอดให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ออกคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ เรียกค่าเสียหายจึงชอบด้วยกฎหมาย เพราะในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย แต่ในกรณีนี้กระทรวงพาณิชย์ ไม่ต้องการให้ชดใช้เป็นรูปแบบข้าว แต่เรียกค่าเสียหายในรูปแบบเงิน ซึ่งน้อยกว่ามูลค่าข้าวที่เสียหายไป

อย่างไรก็ตามในส่วนของนายอัฐฐิติพงศ์ หรืออัครพงศ์ ในขณะที่เกิดการซื้อขายในสัญญาที่ 1 และ 2 เป็นเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นล่าม ไม่มีส่วนในการเจรจาซื้อขายหรือสั่งการ แต่ในสัญญาฉบับที่ 3 และ 4 นั้น ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว กระทรวงพาณิชย์ จึงมีฐานะเป็นอนุกรรมการระบายข้าวโดยตำแหน่ง มีส่วนร่วมเจรจาและบันทึกการซื้อขาย ต่อมามีส่วนในการแก้ไขสัญญาซื้อขายข้าวในฉบับที่ 2 จึงให้ชดใช้ความเสียหายร้อยละ 10 ในสัญญาฉบับที่ 1 และ 2 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนสัญญาฉบับที่ 3 และ 4 ให้ชดใช้ร้อยละ 20 ของความเสียหายที่เกิดจากการละเมิด

โดยศาลได้มีคำพิพากษาให้ นายมนัส สร้อยพลอย ชดใช้ 4,011 ล้านบาท,นายทิฆัมพร นาทวรทัต ชดใช้ 4,011 ล้านบาท, นายภูมิ สาระผล ชดใช้ 2,242 ล้านบาทนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ชดใช้ 1,768 ล้านบาท,นายอัฐฐิติพงศ์ หรือ อัครพงศ์ ให้ชดใช้ 2,694 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง