เช็กเกณฑ์ลดวันกักตัว ดีเดย์ 1 เม.ย.

สังคม
31 มี.ค. 64
12:46
2,150
Logo Thai PBS
เช็กเกณฑ์ลดวันกักตัว ดีเดย์ 1 เม.ย.
ศบค.เผย วันนี้ (31 มี.ค.) ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 42 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,863 คน เตรียมเสนอมาตรการลดเวลาการกักตัว ต่อ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาเห็นชอบก่อนมีผล 1 เม.ย.นี้

วันนี้ (31 มี.ค.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 ไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 42 คน ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 19 คน ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 5 คน ลักลอบเข้าประเทศ 2 คน เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ากักตัว 16 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,863 คน หายป่วยแล้ว 27,426 คน เพิ่มขึ้น 47 คน ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,343 คน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม เสียชีวิตสะสม 94 คน 

ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสมในรอบ 24 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 541,919 คน ผู้ป่วยสะสมกว่า 128 ล้านคน เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นถึง 10,866 คน เสียชีวิตสะสมกว่า 2.8 ล้านคน สหรัฐฯ ยังคงมีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด อยู่ที่ 31 ล้านคน ไทยยังคงอยู่ที่ลำดับ 116 ของโลก 

สถานกักตัวบางเขน บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ติดเชื้อ

พญ.อภิสมัย ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้หารือเกี่ยวกับกรณีที่พบการติดเชื้อ COVID-19 ของข้าราชการตำรวจและผู้รับการกักตัวเป็นกลุ่มก้อนภายในศูนย์กักตัวบางเขน

จากการติดเชื้อของกลุ่มคนดังกล่าว เบื้องต้นพบมีการติดเชื้อของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในศูนย์กักตัว โดยเฉพาะแผนกครัว ที่จะต้องมีการเสิร์ฟอาหาร ทำหน้าที่แม่บ้าน หรือทำงานอยู่ในครัว

จากกรณีบุคคลากรที่ทำงานในศูนย์กักมีประวัติเสี่ยงที่จะสัมผัสผู้ป่วย วันนี้ ศบค.ชุดเล็ก มีการทบทวนแผนการกระจายวัคซีน โดยจะทำการฉีดให้กับบุคลากรที่ทำงานในศูนย์กักตัว (ASQ) ของ กทม. ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูง 

ฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 52 จังหวัด มิ.ย.นี้

สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา 800,000 โดส ที่เริ่มฉีดและมีการกระจายกลุ่มเป้าหมายใน 22 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง และจังหวัดเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และแนวชายแดน ในวันนี้ (31 มี.ค.) จะมีการจัดสรระกระจายวัคซีนเพิ่มอีก 160,000 โดส เพื่อให้มีการกระจายครอบคลุมไปอีก 52 จังหวัด 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยถึงความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุขในการกระจายวัคซีนให้กับประชากรส่วนใหญ่ของทั้งประเทศ 52 จังหวัด จะได้รับวัคซีนในเดือน มิ.ย.นี้

ก่อน มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุข อยากตอกย้ำความมั่นใจ การกระจายวัคซีน รวมถึงการฉีดวัคซีน การติดตามหลังการฉีด ประชาชนจะได้รับวัคซีนอย่างปลอดภัย เพื่อให้แผนการกระจายวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการกระจายวัคซียให้จังหวัดขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อจัดสรรให้ อสม. และพื้นที่ได้ทบทวนทาตรการเตรียมความพร้อม รองรับการกระจาควัคซีนที่จะมาถึงไทย เดือน มิ.ย.

 

 

เสนอมาตรการ ศบค.ชุดใหญ่ ลดเวลากักตัว 

ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กในวันนี้จะได้นำเสนอมาตรการผ่อนคลายระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และเกณฑ์การตรวจหาเชื้อ COVID-19 ต่อ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนมีผลในทางปฏิบัติได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 เป็นต้นไป

โดย ศบค.ชุดเล็กจะนำเสนอ มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์การดำเนินการในสถานที่กักกัน ซึ่งทางราชการกำหนด” โดยมีเกณฑ์ดังนี้

ระยะเวลาการกักตัว จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

1. ระยะเวลากักตัว 7 วัน กรณีได้รับวัคซีนโควิด ตามกเกณฑ์อย่างน้อย 14  วัน ก่อนการเดินทาง

2. ระยะเวลากักตัว 10 วัน ซึ่งเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนแล้วแต่ไม่ครบ 14 วันก่อนการเดินทางเข้าไทย หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 โดส

3. ระยะเวลากักตัวอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่พบการรายงานไวรัสโควิดกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์แอฟริกา สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์อังกฤษ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีการทบทวนการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในกรณีของกลุ่มที่เข้ารับการกักตัว 7 วัน จะแบ่งเป็นกรณีชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทย ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด และผลตรวจยืนยันว่าไม่พบเชื้อ จึงสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ โดยเมื่อเข้ามาไทยแล้ว จะมีการตรวจหาเชื้อโควิดในช่วงวันที่ 5-6

ส่วนกรณีคนไทยที่เดินทางกลับประเทศ ไม่ได้มีการตรวจโควิดก่อนเดินทางนั้น เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทยวันแรกจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโดยวิธี Swab ตั้งแต่วันแรกที่ถึงไทย และตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5-6

ส่วนกลุ่มที่เข้ารับการกักตัว 10 วัน จะต้องตรวจหาเชื้อโควิดโดยวิธี Swab 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก วันที่ 3-5 ครั้งที่สอง คือวันที่ 9-10

ส่วนกลุ่มที่เข้ารับการกักตัว 14 วัน จะต้องตรวจหาเชื้อโควิดโดยวิธี Swab 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก วันแรกที่เดินทางมาถึง ครั้งที่สอง วันที่ 6-7 และครั้งที่สาม วันที่ 12-13

จากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกักตัว 7 วัน 10 วัน หรือ 14 วัน ก็ยังได้กำหนดให้ต้องมีระบบการติดตามตัวจนครบ 14 วัน แม้ว่าจะออกจากสถานกักตัวไปแล้วด้วย

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่จะเสนอให้ ผอ.ศบค.ชุดใหญ่ในวันนี้ ต้องรอผลการอนุมัติในวันนี้ก่อนด้วย

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง