สลดฟ้าผ่าเด็กกลางสนามฟุตบอลตาย 1 เจ็บ 5 คน

ภูมิภาค
31 มี.ค. 64
13:45
2,524
Logo Thai PBS
สลดฟ้าผ่าเด็กกลางสนามฟุตบอลตาย 1 เจ็บ 5 คน
เดือนพายุฝนฟ้าคะนองเลี่ยงอยู่พื้นที่โล่งแจ้ง เช่น กลางทุ่งนา สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ ใต้ต้นไม้ เพราะมีความเสี่ยงฟ้าผ่าเสียชีวิต หลังเกิดเหตุสลดฟ้าผ่าเด็กชาย 6 คนที่ จ.สุราษฎร์ธานี ขณะเล่นบอลกลางสายฝนได้รับบาดเจ็บ 5 คนเสียชีวิต 1 คน

วันนี้ (31 มี.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) เกิดเหตุฟ้าผ่าเด็กทั้ง 6 คน ขณะเล่นฟุตบอล ท่ามกลางสายฝนในโรงเรียนเยาวเรศ ทำให้ ด.ช.กฤษณพล จันทร์ศรี อายุ 12 ปีเสียชีวิต ส่วนอีก 5 คนได้รับบาดเจ็บต้องนำตัวส่งต่อโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี 3 คน และรักษาตัวที่โรงพยาบาลเคียนซา 2 คน ท่ามกลางญาติและเจ้าหน้าที่ที่เข้าเข้าดูอาการเด็กชาย 6 คนที่โรงพยาบาลเคียนซา อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี อย่างใกล้ชิด

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมนายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบ และให้กำลังใจญาติของเด็กทั้ง 6 คน โดยพบว่ามีเด็กชายอีก 1 คนที่ยังมีอาการสาหัส พร้อมเตือนประชาชนให้เตือนบุตรหลานต้องระมัดระวัง ขณะที่ฝนตกหนัก เพราะอาจเกิดพายุ หรือเกิดฟ้าผ่าได้

ทุ่งนา-สนามบอลพื้นที่เสี่ยงฟ้าผ่า

ก่อนหน้านี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ออกมาเตือนอันตรายจากฟ้าผ่าที่อันตรายถึงชีวิตได้ โดยระหว่างเกิดฝนฟ้าคะนองให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ หากเลี่ยงไม่ได้ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย

หากหลบอยู่ในรถยนต์ ให้จอดรถห่างจากต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง เสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ดับเครื่องยนต์ ปิดกระจก และอย่าสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของรถที่เป็นโครงโลหะ เมื่ออยู่ในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างทุกบาน และอยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด

 

แนะวิธีช่วยคนถูกฟ้าผ่า

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หากพบเห็นผู้ที่ถูกฟ้าผ่า ให้สังเกตบริเวณที่เกิดเหตุว่ายังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามีให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย โดยแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ซึ่งต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าซ็อต รีบโทรแจ้งเหตุสายด่วนช่วยชีวิต 1669 พร้อมให้ข้อมูลสถานที่เกิดเหตุและอาการของผู้ป่วย จากนั้นปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นจากศูนย์รับแจ้งเหตุในการดูแลผู้ป่วย ระหว่างรอรถฉุกเฉินมารับผู้ป่วย กรณีที่ผู้ถูกฟ้าผ่า หมดสติ หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ

โดยสังเกตได้จากอาการริมฝีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมาก หรือไม่เคลื่อนไหวเลย ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ให้รีบปฐมพยาบาลโดยใช้การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) คือ ผายปอดด้วยการให้ลมทางปากหรือที่เรียกว่า การเป่าปาก ร่วมกับการนวดหัวใจ หรือหากในบริเวณนั้นมีเครื่องช่วยชีวิตฉุกเฉิน (AED) ใช้เพื่อช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันที และรีบนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ก่อนหน้านี้เดือนมิ.ย.2563 ในต่างประเทศเคยเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในอินเดียในช่วงเวลา 10 วันมากถึง 100 คนมาแล้ว และแต่ละปีอินเดีย โดยสำนักงานสถิติอาชญากรรมแห่งชาติอินเดีย รายงานสถิติพบคนอินเดียเสียชีวิตจากเหตุฟ้าผ่าจำนวน 2,000 คนทุกปี โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากมาจากการทำงานกลางแจ้งของคนอินเดีย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศร้า! ฟ้าผ่า 2 รัฐใน "อินเดีย" เสียชีวิตแล้วกว่า 100 คน

ทำไมคนอินเดียเสียชีวิตจาก "ฟ้าผ่า" นับร้อยคน?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง