"ข้อมูล - เบอร์โทร" ผู้ใช้ Facebook รั่วไหล 533 ล้านบัญชี

Logo Thai PBS
"ข้อมูล - เบอร์โทร" ผู้ใช้ Facebook รั่วไหล 533 ล้านบัญชี
สื่อต่างประเทศรายงานว่า ข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ Facebook ซึ่งมีทั้งชื่อเต็ม อีเมล รวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ รวม 533 ล้านบัญชี จากผู้ใช้ 106 ประเทศ รั่วไหลบนสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่โฆษก Facebook ชี้เป็นข้อมูลเก่าที่เคยรายงานเมื่อปี 2562 และดำเนินการแก้ไขแล้ว

วันนี้ (5 เม.ย.2564) สื่อต่างประเทศรายงานว่า ข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) จำนวน 533 ล้านบัญชี จาก 106 ประเทศ รั่วไหลบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเป็นข้อมูลของผู้ใช้งานจากสหรัฐอเมริกามากกว่า 32 ล้านคน อังกฤษ 11 ล้านคน และอินเดีย 6 ล้านคน

สำหรับข้อมูลที่รั่วออกมานั้นมีทั้งชื่อผู้ใช้งาน ชื่อ - นามสกุล เฟซบุ๊กไอดี ที่อยู่ วันเกิด ประวัติส่วนตัว อีเมล รวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ โดยมีการตรวจสอบตัวอย่างข้อมูลที่รั่วไหลออกมาพบบันทึกหลายรายการของเฟซบุ๊กไอดีที่เชื่อมกับข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กนั้นเป็นข้อมูลจริง และเมื่อทดสอบอีเมลจากชุดข้อมูลที่รั่วไหลในขั้นตอนรีเซ็ตรหัสผ่านของเฟซบุ๊กยังสามารถเข้าถึงหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้บางส่วนได้อีกด้วย

 
ภายหลังโฆษกเฟซบุ๊ก ระบุว่า ข้อมูลที่รั่วไหลนั้นเป็นข้อมูลเก่าที่รั่วไหลเมื่อปี 2562 ซึ่งบริษัทได้พบปัญหาดังกล่าวเมื่อเดือน ส.ค.และแก้ไขช่องโหว่นั้นแล้ว ขณะเดียวกัน อาลอน เกล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฮัดสัน ร็อค บริษัทข่าวกรองอาชญากรรมไซเบอร์ของอิสราเอล เป็นผู้ค้นพบข้อมูลรั่วไหลเป็นครั้งแรกบนออนไลน์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ฐานข้อมูลส่วนตัวจำนวนมาก โดยเฉพาะเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่รั่วไหลออกมาจะทำให้ผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ประโยชน์ในการโจมตีทางไซเบอร์ด้วยวิศวกรรมสังคม หรือลวงข้อมูลผู้ใช้งานด้วยจิตวิทยา และการแฮกข้อมูล

 
มูลค่าข้อมูลลดลง 2 ปี แจกฟรีบนออนไลน์

อาลอน เกล ค้นพบข้อมูลที่รั่วไหลครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค. ในกลุ่มแฮกเกอร์ซึ่งเปิดซื้อขายข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายร้อยล้านคน แต่ในไม่กี่วันที่ผ่านมา พบเทเลแกรมบอต (Telegram bot) บัญชีหนึ่งเปิดให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์สามารถสืบฐานข้อมูลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้คนค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ที่เชื่อมโยงกับบัญชีเฟซบุ๊กได้จำนวนมาก 

 
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรั่วไหลบนสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก เมื่อปี 2562 หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กนับล้านรั่วไหลไปบนออนไลน์และถูกคัดลอกจากเซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊ก โดยละเมิดข้อกำหนดในการให้บริการของแพลตฟอร์ม และในปี 2559 ข้อมูลผู้ใช้งานกว่า 80 ล้านบัญชี ถูกละเมิดจากกรณี Cambridge Analytica เพื่อกำหนดเป้าหมายผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยโฆษณาทางการเมือง


ทั้งนี้ อาลอน เกล ระบุว่า จากมุมมองด้านความปลอดภัย แม้เฟซบุ๊กไม่สามารถช่วยผู้ใช้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลได้ เนื่องจากข้อมูลถูกเผยแพร่ไปแล้ว แต่เฟซบุ๊กควรแจ้งเตือนผู้ใช้เพื่อให้ระมัดระวังการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการถูกหลอกลวงหรือฉ้อโกงโดยใช้ข้อมูลส่วนบุคคล

คนที่มาลงทะเบียนกับเฟซบุ๊กต่างเชื่อมั่นว่าข้อมูลของตัวเองจะปลอดภัย เฟซบุ๊กควรปฏิบัติต่อข้อมูลของผู้ใช้ทุกคนด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด 

ที่มา : businessinsiderwashingtonpostbloombergreuters

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือน! พนักงาน Facebook เข้าถึง "รหัสผ่าน" ผู้ใช้ 600 ล้านบัญชีได้

"FACEBOOK" ยอมรับถูกแฮกบัญชีผู้ใช้ 50 ล้านบัญชี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง