คุยกับ "นพ.สุริยเดว" ในวันที่ไทยกำลังจะมีดัชนีชี้วัดคุณธรรม

สังคม
7 เม.ย. 64
07:20
898
Logo Thai PBS
คุยกับ "นพ.สุริยเดว" ในวันที่ไทยกำลังจะมีดัชนีชี้วัดคุณธรรม

"คุณธรรมนำใจ คุณธรรมนำไทย" วลีผู้ใหญ่สอนเด็กตั้งแต่เล็กจนโตที่ใครหลาย ๆ คนได้ยินจนคุ้นหู ปี 2564 นี้คณะรัฐมนตรี คณะยุทธศาสตร์ชาติ และคณะปฏิรูปประเทศ กำลังยึดวลีนี้บรรจุในการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณธรรมให้ประชาชน 

เมื่อพูดถึงคำว่า "คุณธรรม" แม้เป็นคำที่ได้ยินประจำ แต่กลับรู้สึกเหมือนเลือนลาง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงองค์กรคุณธรรมในประเทศไทยอย่าง "ศูนย์คุณธรรม" ที่แม้แต่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คนใหม่ ก็ยอมรับว่าไม่เคยได้ยินชื่อองค์กรนี้มาก่อน


เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งแล้ว หน้าที่สร้างความชัดเจนให้กับคำว่า "คุณธรรม" จึงเริ่มขึ้น โดยการโอนย้ายภารกิจศูนย์วิจัยนวัตกรรมติดตามระบบพฤติกรรมไทยมาที่ศูนย์คุณธรรม เพื่อทำให้คำว่า "คุณธรรม" เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ในอดีตคุณธรรมเป็นเรื่องนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่ตอนนี้แปรรูปเป็นคุณธรรมยุคดิจิทัล วัดกันด้วยพฤตินิสัยที่ดี หากจะมอบรางวัลจะวัดจากพฤติกรรมเป็นหลัก ทำให้ทุกคน ทุกวัย ทุกเพศที่มีพฤติกรรมควรค่าแก่การชื่นชม-ยกย่องสามารถรับรางวัลได้

รศ.นพ.สุริยเดว ชวนมองย้อนไปในอดีตพบว่า ประเทศไทยไม่เคยมีการวิเคราะห์สถานการณ์คุณธรรมที่จะออกมาเป็นตัวเลข แต่ละจังหวัดมีสถานการณ์คุณธรรมพึงประสงค์เท่าใด หรือมีคุณธรรมด้านใดที่อ่อนแอ และจะวางแผนยุทธศาสตร์ด้านคุณธรรมรายจังหวัดและระดับประเทศอย่างไร 

ดัชนีชี้วัดคุณธรรม 2564 มาตรฐานคุณธรรมประเทศไทย

ศูนย์คุณธรรมจึงมีหน้าที่จัดทำดัชนีชี้วัดคุณธรรม ปี 64 ซึ่งจะคลอดออกมาภายในปลายปีนี้ โดยดัชนีชี้วัดคุณธรรมนี้จะเป็นดัชนีปีฐาน ในแผนยุทธศาสตร์ได้กำหนดให้ปีถัดไปต้องมีดัชนีชี้วัดเพิ่มขึ้น 5 % จากฐาน เมื่อมีดัชนีปีฐานแล้ว ผู้บริหารในแต่ละพื้นที่ ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศจะสามารถวางแผนการดำเนินการได้

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจสำรวจสภาวการณ์จิตสำนึกเด็กไทยโดยเป็นรายงาน 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องเก็บตัวอย่างจากวัยแรงงาน 25-40 ปี ทั่วประเทศในขณะนี้ พร้อมกำหนดมาตรฐานคุณธรรมซึ่งจะไม่ใช้มาตรฐานเป็นไม้บรรทัดเดียววัดคนในเมืองกับคนบนดอย แต่ต้องเป็นไปตามทุนชีวิต และบริบทในพื้นที่

มาตรฐานคุณธรรมเป็นเพียงแนวทาง เพื่อให้ดูระบบ กระบวนการ และผลลัพธ์ เพื่อเป็นแนวทาง โดยเป็นหน้าที่ของปลายทาง อบต.เป็นพี่เลี้ยงไปกำหนดตัวชี้วัดเอง 


ก่อนหน้านี้ ศูนย์คุณธรรมได้รับรางวัลองค์กรคุณธรรมต้นแบบ นับเป็นรางวัลสูงสุดขององค์กรคุณธรรมที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมคนในองค์กร พร้อมขับเคลื่อนองค์กรอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมงานหรือสัมผัสได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ดีขึ้นด้วย

ดังนั้นศูนย์คุณธรรมจึงมีหน้าที่ ร่วมขับเคลื่อนกับสมัชชาคุณธรรม 6 แพลตฟอร์ม คือ ภาครัฐ ธุรกิจ การศึกษา สื่อสารมวลชน ศาสนิกสัมพันธ์ และชุมชนคุณธรรม

โดยให้ต้นแบบหรือผู้นำในแต่ละแพลตฟอร์มเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาวิทยากรคุณธรรม เพื่อต่อยอดและถอดแบบคุณธรรมออกมาเป็นโมเดลเพื่อเก็บเป็น Big DATA คุณธรรม เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้สังคม

คุณธรรมยังจำเป็นอยู่ไหมในปี 2021

รศ.นพ.สุริยเดว ยังกล่าวอีกว่า หากมองให้โลกสวย อยู่ในฝันอุดมคติ บ้านเมืองไหนที่ผู้คนมีจิตสำนึก ต่อให้ไม่มีกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ ก็จะมีสันติสุข ร่างกฎหมายมาดีก็ยังยกพวกตีกันได้ แต่เมื่อออกมาจากมุมมองในความฝัน อย่างน้อยหากบ้านเมืองมีคนคุณธรรม 30 % ของทั้งประเทศ อีก 30% ซึ่งเป็นมนุษย์อยู่เฉยจะเริ่มเข้มแข็งขึ้น

ศูนย์คุณธรรมไม่ได้มีหน้าที่สร้างคุณธรรม แต่มีหน้าที่ให้คนดีมีพื้นที่ยืน เพราะคนดีไม่ได้เกิดขึ้นจากศูนย์คุณธรรม แต่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมา แต่ศูนย์คุณธรรมจะทำหน้าที่เป็นตลาดนัดโชว์ แชร์ เชื่อม


อย่างไรก็ตาม ศูนย์คุณธรรมจะดูพฤติกรรมของประชาชน โดยใช้คีเวิร์ด "พอเพียง จิตอาสา มีวินัย สุจริต และกตัญญู" หรือพฤติกรรมพลังบวก ซึ่งจะใช้เครื่องมือทางจิตวิทยา เมื่อผู้ทดสอบตอบคำถามจะไม่รู้สึกว่าหมวดนี้ คือ พอเพียง จิตอาสา แต่เขาจะตอบไปตามวิถีชีวิตของตัวเอง แล้วศูนย์คุณธรรมจะให้คะแนน นำมาวิเคราะห์ว่าพลังคุณธรรมอยู่ในระดับไหน

เด็กบางคนได้รับอุบัติเหตุแขนขาด แต่บนรถฉุกเฉินเขาถามว่าแม่ได้กินข้าวหรือยัง เพราะเขาออกมาเพื่อซื้อข้าวให้แม่กิน เด็กคนนี้เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย พฤติกรรมนี้เรายกย่องว่าตรงพฤติกรรมที่ดี สะท้อนสังคม ดังนั้น ดัชนีชี้วัดคุณธรรมจะอยู่ที่พฤติกรรมไม่ใช่เปเปอร์

คุณธรรม ทำทำไม ?

ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ให้นิยามคำว่า "คุณธรรม" คือ จิตพฤติกรรมศาสตร์ พร้อมขยายความว่า คุณธรรมเป็นพฤติกรรมดีที่แสดงออกมา จนกลายเป็นกิจวัตร หรือที่เรียกว่าพฤตินิสัย ปรากฏได้ทุกแห่งทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน ต่อให้พบสิ่งยั่วยวน หรือปัญหาความท้าทาย พฤตินิสัยนั้นจะยังดำรงอยู่ ดังนั้น คุณธรรม ไม่ใช่คุณงามความดีที่จับต้องไม่ได้ เมื่อใช้คำว่าพฤติกรรมที่ดี คุณธรรมจะปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมได้ เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจง่ายขึ้น

ทั้งนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสว่า "คุณธรรม ใครทำ คนนั้นได้ ไม่ต้องมาโลกสวยบอกทำเพื่อชาติบ้านเมือง ถ้าวันนี้คุณมีคุณธรรม คนแรกที่ได้ประโยชน์ก็คือตัวคุณ และคนรอบข้างก็จะมีความสุข เพราะฉะนั้น ความดีทำได้ไม่ต้องเดี๋ยว"

ว่าด้วยเรื่องดัชนีคุณธรรม

เมื่อกล่าวถึงดัชนีคุณธรรมในต่างประเทศ มีรายงานในลักษณะตัวชี้วัดการทำความดีเป็นรายปีเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้มูลนิธิเพื่อการกุศล (Charities Aid Foundation: CAF) (2020) เคยรายงานดัชนีการให้ของโลก (The World Giving Index: WGI)

โดยเกณฑ์การพิจารณาจะใช้พฤติกรรมการให้หรือบริจาคและการทำงานเพื่อการกุศล ใน 3 รูปแบบ คือ การบริจาคเงิน (Donating money) แก่องค์กรต่างๆ การช่วยเหลือคนแปลกหน้า (Helping a stranger) การเป็นอาสาสมัคร (Volunteering)

พบว่า ในปี 2563 ข้อมูลจากเว็บไซต์ World Population Review (2020) ประเทศที่มีดัชนีการให้ของโลกสูงที่สุดในทุกด้าน 3 อันดับแรก จากประเทศทั้งหมด 126 ประเทศ  ได้แก่

  • อันดับที่ 1 ประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 58, การบริจาคเงิน ร้อยละ 61, การช่วยเหลือคนแปลกหน้า ร้อยละ 72, การเป็นอาสาสมัคร ร้อยละ 42

  • อันดับที่ 2 ประเทศเมียร์มาร์ (ร้อยละ 58, การบริจาคเงิน ร้อยละ 81, การช่วยเหลือคนแปลกหน้า ร้อยละ 49, การเป็นอาสาสมัคร ร้อยละ 43)

  • อันดับที่ 3 ประเทศนิวซีแลนด์ (ร้อยละ 57, การบริจาคเงิน ร้อยละ 65, การช่วยเหลือคนแปลกหน้า ร้อยละ 64, การเป็นอาสาสมัคร ร้อยละ 41)

เมื่อพิจารณาเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า

  • อันดับที่ 1 ได้แก่ ประเทศเมียร์มาร์ ร้อยละ 58, การบริจาคเงิน ร้อยละ 81, การช่วยเหลือคนแปลกหน้า ร้อยละ 49, การเป็นอาสาสมัคร ร้อยละ 43 

  • อันดับที่ 2 ประเทศอินโดนีเซีย ร้อยละ 50, การบริจาคเงิน ร้อยละ 69, การช่วยเหลือคนแปลกหน้า ร้อยละ 42, การเป็นอาสาสมัคร ร้อยละ 40

  • อันดับที่ 3 ประเทศไทย ร้อยละ 42, การบริจาคเงิน ร้อยละ 71, การช่วยเหลือคนแปลกหน้า ร้อยละ 41, การเป็นอาสาสมัคร ร้อยละ 15

คนไทยมองสถานการณ์คุณธรรมอย่างไร?

ขณะที่สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เคยสำรวจ เรื่อง คุณธรรมในโซเชียลมีเดีย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,224 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-10 กรกฎาคม พ.ศ.2562

จากความคิดเห็นต่อระดับของคุณธรรมในสังคมไทย พบว่า ร้อยละ 52.0 ระบุสังคมไทยมีคุณธรรมระดับปานกลาง รองลงมา คือ ร้อยละ 39.2 ระบุมีคุณธรรมระดับน้อยถึงน้อยที่สุด และร้อยละ 8.8 ระบุมีคุณธรรม
ระดับมากถึงมากที่สุด

ที่น่าเป็นห่วง คือ ความคิดเห็นต่อระดับคุณธรรมของอนาคตสังคมไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุจะลดลง ในขณะที่ร้อยละ 32.1 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 8.8 ระบุมากขึ้น

เมื่อสอบถามถึงคุณธรรมที่รัฐบาลควรส่งเสริม พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 ระบุการมีจิตสำนึกที่ดี รองลงมาคือ ร้อยละ 57.0 ระบุการมีวินัย ร้อยละ 54.5 ระบุคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

ร้อยละ 53.6 ระบุความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 39.9 ระบุความมีน้ำใจดีต่อกันและกัน ร้อยละ 36.6 ระบุความพอเพียง และร้อยละ 30.1 ระบุการคิดไตร่ตรอง มีสติ


ทั้งนี้ เมื่อถามถึงดัชนีชี้วัดคุณธรรม โดยจำแนกเป็นรายด้านถึงระดับความเป็นจริงของตัวผู้ตอบ พบว่า

  1. ด้านความมีวินัย พบว่าเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 52.30 ระบุมาก ร้อยละ 35.20 ระบุปานกลาง ร้อยละ 10.20 ระบุมากที่สุด และระดับความมีวินัย มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.68

  2. ด้านความพอเพียง พบว่าจำนวนมากหรือร้อยละ 47.40 ระบุมาก ร้อยละ 38.30 ระบุปานกลาง ร้อยละ 9.60 ระบุมากที่สุด และระดับความพอเพียง มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.61

  3. ด้านความสุจริต พบว่าเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 51.10 ระบุมาก ร้อยละ 27.20 ระบุปานกลาง ร้อยละ 19.50 ระบุมากที่สุด และระดับความสุจริต มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.85

  4. ด้านความมีจิตอาสา พบว่าเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.00 ระบุมาก ร้อยละ 26.70 ระบุมากที่สุด ร้อยละ 17.20 ระบุปานกลาง และระดับความมีจิตอาสา มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.86

หลังจากนี้คนไทยอาจต้องรอคอยรูปร่างหน้าตาของดัชนีชี้วัดคุณธรรมจากศูนย์คุณธรรมว่าจะเป็นไปตามที่คิดไว้หรือไม่ และดัชนีชี้วัดคุณธรรมที่เป็นตัวเลขนี้ จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนสังคมไทย เหมือนวลีคุณธรรมนำใจ คุณธรรมนำไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรมสูงกว่าค่ามาตรฐาน 5 % ได้จริงหรือ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง