ยังไม่มีทางออกของเมืองทับซ้อน “นครคน เมืองลิง” ลพบุรี

สิ่งแวดล้อม
5 เม.ย. 64
15:06
4,109
Logo Thai PBS
ยังไม่มีทางออกของเมืองทับซ้อน “นครคน เมืองลิง” ลพบุรี
ลพบุรียังไม่พบทางออกแก้ปัญหาของคนกับลิง เมืองของคนทับซ้อนกับแหล่งอาศัยของลิงที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุด แม้จะมีแนวคิดสร้างนิคมลิง แต่จนวันนี้ยังไม่มีลิงไปอยู่แม้แต่ตัวเดียว ขณะที่แหล่งธุรกิจกลางเมือง หลายแห่งถูกทิ้งร้างหนีลิง

จากกรณี "ก๊อตซิลล่า" ลิงแสมอ้วน อายุ 3 ปี 8 เดือน ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำไปดูแลที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

ลามเป็นกระแสโซเชียล เรียกร้องให้หวนกลับมาดูแลลิงลพบุรี ที่มีปัญหาประชากรเพิ่มขึ้นทุกวัน คุณภาพชีวิตย่ำแย่ แถมยังเป็นจำเลยสังคม

ด้วยเพราะไร้การควบคุม ขาดแคลนอาหาร มันจึงบุกเข้าไปทุกที่ที่คิดว่ามีอาหารประทังชีวิต สภาพอาคารและบ้านเรือนหลายหลังจึงถูกทิ้งร้าง

 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจพื้นที่เมืองเก่าลพบุรี แหล่งอาศัยของลิงตั้งแต่ศาลพระกาฬ ไปจนถึง บขส.วงเวียนสระแก้ว พบว่า สภาพอาคารเป็นตึกร้าง มีเพียงร้านชโยวานิช ร้านขายอะไหล่รถยนต์ เพียงแห่งเดียว ที่ยังเปิดขายอยู่ มีลิงวิ่งเข้าออก กินข้าว นอน ในร้าน เหมือนกับบริเวณอื่นๆ

ส่วนอาคารโรงหนังมาลัยรามา กลายเป็นตึกร้างที่อยู่ของลิง ขณะที่นักท่องเที่ยวลดลง บางส่วนเข้ามาไหว้เจ้าพ่อพระกาฬและแวะซื้ออาหารให้ลิงเป็นผลไม้ น้ำหวาน ข้าวโพดดิบ กล้วย ฝักบัว

 

เมื่ออาหารไม่เพียงพอ ลิงหลายตัวจึงแย่งอาหารกันเอง แย่งอาหารและสิ่งของจากมือนักท่องเที่ยว บางตัวรื้อคุ้ยถังขยะหาอาหาร มีร่องรอยบาดแผลถูกกัด

ขณะที่สังเกตเห็นจำนวนลูกลิงมีจำนวนมาก หลายตัวเกาะอยู่กับอกแม่ สะท้อนการทำหมันอาจยังไม่เพียงพอ

อาหารไม่เพียงพอ ต้องคุ้ยขยะกิน

แม่ค้าขายผลไม้ ย่านศาลพระกาฬ จ.ลพบุรี บอกว่า คุ้นชินกับลิงลพบุรีมานาน เพราะอยู่ที่นี่มากว่า 20 ปี ลิงลพบุรีไม่ดุ หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป แต่จำนวนของลิงเพิ่มขึ้นจริง

 

บางครั้งจะถูกขโมยสิ่งของ อย่างข้าวโพดดิบ กล้วย โดยเฉพาะถั่วลิสงที่ลิงชอบ มีตัวที่เข้ามาเป็นประจำ ส่วนสถานการณ์ COVID-19 เศรษฐกิจซบเซา คนซื้ออาหารให้ลิงลดลง จนลิงต้องหาอาหารจากถังขยะ และบางตัวก็จะแอบดึงของจากนักท่องเที่ยว

สมัยก่อนมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยว ดูลิง และซื้ออาหารให้ลิงเยอะมาก แต่สถานการณ์ COVID-19 การท่องเที่ยวซบเซา

ส่วนวินรถจักรยานยนต์ริมทางรถไฟ บอกว่า ลิงซนมากขึ้น เพราะแยกเป็นหลายกลุ่ม บางกลุ่มมีอาหารเพียงพอ แต่บางกลุ่มต้องคอยคุ้ยหาอาหารจากถังขยะและหาน้ำดื่มที่ถูกทิ้งไว้

 

"สุทิพย์ ตันติวงศ์" เจ้าของร้านชโยวานิช พื้นที่อาศัยของลิงตึก เล่าว่า ลิงเพิ่มประชากรมากขึ้น แต่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาและอยู่ร่วมกันได้ บางครั้งลูกค้าก็จะนำอาหารมาให้ลิงที่เข้ามาในร้าน บางตัวแวะเข้ามานอนกลางวันและช่วงเย็นจะกลับเข้าฝูง

สุทิพย์ ตันติวงศ์

"สุทิพย์ ตันติวงศ์"

"สุทิพย์ ตันติวงศ์"

ลดประชากร เริ่มทำหมัน "ลิงตัวเมีย"

ขณะที่สัตวแพทย์หญิงจุฑามาศ สุพะนาม หรือหมอเตย สัตว์แพทย์จิตอาสาที่คอยดูแลและรักษาอาการบาดเจ็บของลิงใน จ.ลพบุรี เล่าย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จำนวนลิงลพบุรี อยู่ที่ 1,000-1,200 ตัว แต่ขณะนี้อยู่ที่ 3,000 ตัว ถือว่าเพิ่มขึ้นเร็วมาก และใช้พื้นที่ทับซ้อนกับมนุษย์ในเขตเมืองเก่า กระทบกิจการศูนย์การค้าและร้านค้าซบเซา

 

กรมอุทยานฯ ทำหมันลิงในพื้นที่ ปีละ 300-500 ตัว แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะมีงบประมาณจำกัด ประกอบกับพบว่า ลิงตัวเมียมากกว่าตัวผู้ ซึ่งลิงตัวผู้ 1 ตัว ผสมพันธุ์ภายใน 1 วัน นับครั้งไม่ถ้วน อาจจำนวน 10-20 ครั้ง มีโอกาสทำให้ตัวเมียตั้งท้องได้ 10 ตัว ล่าสุดกรมอุทยานฯ เริ่มทำหมันลิงตัวเมียบ้างแล้ว คาดว่าการเพิ่มประชากรจะลดลงอย่างชัดเจนในอีก 4-5 ปี

ลิงเกิดใหม่ปีละ 30 % อยากให้เป็น 1 % จะได้คุมกำเนิดง่าย ไม่สร้างปัญหามากขนาดนี้ หากจำนวนลิงเพิ่มขึ้นก็จะบุกรุกบ้านเรือน กลายเป็นมนุษย์ถูกไล่ที่ แย่งสิ่งของ ทำให้มีตึกร้างเยอะในตัวเมือง ส่วนลิงก็อยู่ลำบากขึ้น ขาดพื้นที่ปลอดภัย อาหารไม่เพียงพอ

ชีวิตเสี่ยง ถูกรถชน-ไฟช็อต

สัตวแพทย์หญิงจุฑามาศ เล่าถึงการทำงานตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ว่า รู้สึกทุกข์ใจทุกครั้งเมื่อเห็นลิงบาดเจ็บเพราะถูกรถชน และไฟช็อตเมื่อไต่สายไฟข้ามถนน

 

ซึ่งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านจะส่งลิงบาดเจ็บ หรือพลัดหลงแม่ ให้เข้ามาดูแลรักษาเฉลี่ยปีละ 17 ตัว จนเกิดเป็นความรู้สึกผูกพัน เลี้ยงเหมือนเป็นพี่น้องและสมาชิกในครอบครัว กระทั่งลิงอาการดีขึ้น แข็งแรง และสามารถปล่อยกลับเข้าฝูงลิงในเมืองได้

หมอไม่มีความสุขเลยเมื่อเห็นลิงบาดเจ็บ เวลาที่ส่งลูกลิงกลับฝูงในเมืองทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เขตตัวเมืองเก่าอันตรายกับลูกลิงที่เราเลี้ยงมา

 

ช่วงปี 2560 ได้ร่วมกับสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ทำร่างบันทึกข้อตกลง ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท สำรวจพื้นที่เขาพระยาเดินธง 1,000 ไร่ บริเวณ ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

รวมทั้งว่าจ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแบบพื้นที่รองรับลิงจากตัวเมือง เข้าไปอยู่อย่างปลอดภัย

 

พร้อมยืนยันว่า ลิงที่ย้ายเข้าไปจะได้รับการดูแลอย่างดี ตรวจสุขภาพ ตรวจโรค ทำหมัน และฉีดวัคซีนแล้ว

ขณะที่การดูแลพื้นที่ วัสดุ อุปกรณ์ทุกอย่างแน่นหนา ตามมาตรฐานสากล เช่น รั้ว ถ้ำจำลอง แหล่งน้ำ ตึก อาคารพาณิชย์ ให้ความรู้สึกว่า ลิงยังอยู่ในตัวเมือง ไม่ได้ถูกทิ้งในทุ่งโล่ง ๆ เลียนแบบเมืองให้ลิงอยู่อย่างปลอดภัย มีความสุข ไม่อยากดิ้นรนออกมา

ขับเคลื่อน "นิคมลิง" ลิงปลอดภัย-คนอยู่ได้

แต่ตอนนี้ นิคมลิงหยุดชะงัก เพราะถูกชาวบ้านคัดค้าน ผู้นำชาวบ้าน และชุมชน ไม่ต้องการให้ย้ายลิงไป พร้อมเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี และท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน

ยืนยันว่ามีโอกาสน้อยมาก ที่ลิงจะหลุดออกมา และไม่ได้ใช้แหล่งน้ำร่วมกับชาวบ้าน เพราะพื้นที่อยู่กลางเขา

จะขับเคลื่อนเรื่องนิคมลิงให้สำเร็จให้ได้ อยากให้ลิงอยู่ในที่ที่ปลอดภัยและมีการดูแลที่ดี ไม่ต้องเสี่ยงข้ามถนนแล้วถูกรถชน ไต่สายไฟแล้วถูกไฟช็อต ถูกคนทำร้าย สุนัขรุมกัด

หากมีสถานที่หนึ่งรองรับ เมื่อเขาไปอยู่แล้วปลอดภัย จะมีความสุขที่สุด ไม่ว่าจะนานแค่ไหนหมอก็รอได้ ได้แต่ภาวนาให้วันหนึ่งโครงการเกิดขึ้นจริง ลิงไม่เดือดร้อน ไม่บาดเจ็บ ชาวบ้านฟื้นฟูเศรษฐกิจในตัวเมืองได้ ไม่ให้เขตเมืองเก่าเป็นเมืองร้างของลิง

วิถีวานร ลิงจรลพบุรี

สำหรับลิงลพบุรี ฝูงแรกอาศัยบริเวณศาลพระกาฬ หากินถึงพระปรางค์สามยอด และจะไล่ลิงตึก ตั้งแต่ 09.00-11.00 น. ถอยร่นไปทางเทวสถานปรางค์แขก ใช้พื้นที่ทับซ้อนกับลิงตึก คาดว่ามีประมาณ 500-600 ตัว

 

ฝูงที่ 2 ลิงตึกชโยวานิช หากินไปถึงศูนย์การค้าหน้าวังนารายณ์ มีจำนวนลิงมากที่สุด คาดว่าเกิน 800 ตัว

 

ฝูงที่ 3 ลิงตลาดมโนราห์ อาศัยแหล่งหากินบริเวณตลาดนัดมโนราห์ไปจนถึงสี่แยกท่าโพธิ์ และข้ามสะพานแม่น้ำลพบุรี บางตัวไปถึง อ.ท่าวุ้ง คาดว่าไม่เกิน 500 ตัว

 

ฝูงที่ 4 บริเวณมาลัยรามา จุดนี้ปลอดภัยที่สุด เพราะอาศัยในโรงภาพยนตร์ ออกมาหากินบ้างเวลาที่มีคนนำอาหารมาให้ และไม่ยุ่งกับลิงฝูงอื่น ส่วนลิงฝูงย่อยมีบริเวณ บขส.วงเวียนสระแก้ว สี่แยกเอราวัณ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง