ม.ออกซ์ฟอร์ด ระงับทดสอบวัคซีนแอสตราเซเนกาในเด็ก

ต่างประเทศ
7 เม.ย. 64
11:24
809
Logo Thai PBS
ม.ออกซ์ฟอร์ด ระงับทดสอบวัคซีนแอสตราเซเนกาในเด็ก
เจ้าหน้าที่ระดับสูงสำนักงานยายุโรป เปิดเผยว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาอาจมีความเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือดในสมอง หลังจากพบผู้ได้รับวัคซีนตัวนี้มีภาวะดังกล่าว 44 คน จากกว่า 9 ล้านคน ขณะที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระงับการทดสอบวัคซีนแอสตราเซเนกาในเด็ก

วันนี้ (7 เม.ย.2564) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระงับการทดสอบวัคซีนแอสตราเซเนกาในเด็กเป็นการชั่วคราว เพื่อรอข้อมูลเพิ่มเติม

 

หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรกำลังสอบสวนความเชื่อมโยงระหว่างการฉีดวัคซีนตัวนี้กับภาวะหลอดเลือดอุดตัน

 

การทดสอบวัคซีนแอสตราเซเนกาในเด็ก ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และมีอาสาสมัครลงชื่อเข้าร่วมประมาณ 300 คน มีเป้าหมายเพื่อประเมินประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มคน อายุตั้งแต่ 6-17 ปี

วัคซีนแอสเตราเซเนกาอาจเชื่อมโยงลิ่มเลือดสมอง

ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานยายุโรป หรือ อีเอ็มเอ ระบุว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาอาจมีความเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือดในสมอง ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยมาก แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

 

โดยอีเอ็มเอ ออกแถลงการณ์ว่าคณะผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษาหาความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนแอสตราเซเนกากับการเกิดภาวะลิ่มเลือดในสมอง และเตรียมจะเผยแพร่ผลการศึกษาภายใน 1-2 วัน หลังจากได้รับรายงานผู้ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาในสหภาพยุโรปมีภาวะดังกล่าว 44 คนจากกว่า 9.2 ล้านคน

 

ผู้แทนองค์การอนามัยโลกเชื่อมั่นว่าการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาให้ผลดีมากกว่าความเสี่ยง และไม่มีเหตุผลที่จะต้องเปลี่ยนแปลงคำแนะนำเรื่องการใช้วัคซีนในเวลานี้

องค์การอนามัยโลกเชื่อมั่นวัคซีนแอสตราเซเนกา

โรเจอร์ริโอ ปินโต เด ซา แกสปาร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นขององค์การอนามัยโลก แถลงว่า ขณะนี้มีคณะกรรมาธิการและหน่วยงานหลายแห่ง กำลังตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งจะมีข้อมูลใหม่เข้ามาให้ประเมินทุกวัน

 

ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่นำไปสู่ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และทั้งหมดนี้ยังอยู่ในระหว่างการประเมินและกำลังรอการตอบกลับจากคณะกรรมาธิการเหล่านี้

 

ส่วนสำนักงานกำกับผลิตภัณฑ์ยาของสหราชอาณาจักรกำลังตรวจสอบข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าจากหลักฐานที่มีอยู่ในเวลานี้ การประเมินความเสี่ยงของวัคซีนพบว่าส่วนใหญ่ให้ผลดีมากกว่าความเสี่ยง ดังนั้น จึงไม่มีหลักฐานว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงคำแนะนำเรื่องการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในเวลานี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง