หวั่นสงกรานต์คุมไม่อยู่ โควิดระบาดหนักสุดวันละพันคน

สังคม
7 เม.ย. 64
16:49
2,402
Logo Thai PBS
หวั่นสงกรานต์คุมไม่อยู่ โควิดระบาดหนักสุดวันละพันคน
สธ.ชี้ COVID-19 ระบาดรอบนี้รุนแรงกว่าปีก่อน คาดการณ์หนักสุดพบผู้ติดเชื้ออย่างน้อยวันละ 1,000 คน ห่วงเดินทางสงกรานต์ทำเชื้อกระจายทั่วประเทศ

วันนี้ (7 เม.ย.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. - 6 เม.ย.2564 มีผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ แล้ว 291 คน และอยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้ออีกหลายคน ซึ่งตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นในช่วงสงกรานต์ที่จะมีการเดินทางข้ามจังหวัด หากไม่มีมาตรการที่ดีพอ โรคอาจกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขคาดการณ์การระบาดของ COVID-19 ในรอบนี้ คล้ายกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่พบผู้ป่วยตั้งแต่เดือน มี.ค. โดยในช่วงสงกรานต์ หากการระบาดของโรคเป็นไปอย่างกว้างขวางและไม่มีการควบคุม อย่างน้อยจะพบผู้ติดเชื้อได้เป็นวันละ 1,000 คน และหากไม่มีการควบคุมและหยุดยั้งกิจกรรมต่างๆ ให้ลดลง ผู้ติดเชื้อจะขยับเป็นหลักหลายพัน หรือหลายหมื่นคน

นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง โดยมีทั้งกลุ่มพนักงาน นักเที่ยว นักดนตรี ซึ่งมีการกระจายหลายจังหวัดค่อนข้างเร็ว และในช่วงสงกรานต์ที่มีการเดินทางข้ามจังหวัด อาจทำให้มีผู้แพร่เชื้อ COVID-19 เพิ่ม 1.3 - 100 เท่า หากไม่มีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้พบสายพันธุ์อังกฤษ คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า

COVID-19 สายพันธุ์อังกฤษระบาดเร็ว-ติดต่อง่าย

ขณะที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 การระบาดรอบแรกเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. - เม.ย. ตรงกับช่วงการระบาดของปีนี้ โดยสถิติปี 2563 ระบาดทั้งระลอก 2 เดือน มีผู้ป่วย 3,000 คน (เฉลี่ยป่วยวันละหลักสิบคน) และวันที่พบป่วยสูงสุด 188 คน ซึ่งกลับมาจากร่วมพิธีทางศาสนาที่อินโดนีเซีย

แต่ปีนี้ การระบาดเริ่มตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. ขณะนี้ยังไม่ยุติลง อีกทั้งเกิดการระบาดระลอกใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะสถานบันเทิง ซึ่งสงสัยว่าแพร่กระจายเร็วมาก เรียกว่า "ซูเปอร์สเปรดเดอร์" เพราะอยู่ในพื้นที่ปิด ดนตรีเสียงดัง ร้องเพลงเสียงดัง พูดเสียงดัง แต่หลังจากตรวจปริมาณไวรัสจากคอผู้ป่วย พบว่ามีปริมาณที่สูงมากถึงแม้จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ จึงตรวจจำเพาะสายพันธุ์ และพบว่าผู้ป่วย 24 คนจากเคสสถานบันเทิงทองหล่อ เป็นสายพันธุ์อังกฤษ (B117) ทั้งหมด

นพ.ยง ระบุอีกว่า COVID-19 สายพันธุ์อังกฤษ แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและติดต่อกันง่ายมากกว่าสายพันธุ์ธรรมดา 1.7 เท่า ซึ่งปีที่แล้วสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในไทย คือ สายพันธุ์ S เจริญเติบโตเป็นสายพันธุ์ L และ G ซึ่งสายพันธุ์ G แพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์ S และพบมากที่สุดในโลก แต่สายพันธุ์อังกฤษ คือ GRV ในยุโรปแทบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์อังกฤษ โดยฝรั่งเศส เยอรมนี พบการระบาดระลอก 3 และเริ่มกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ขณะที่อังกฤษฉีดวัคซีน COVID-19 มากที่สุด จนเคสใหม่ลดลงและอัตราการตายลดลงอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ มีการคาดคะเนการแพร่ระบาดในไทย จะมากกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า เพราะตัวเลขเป็นหลักร้อย มาตรการปีที่แล้วมีการล็อกดาวน์ เลื่อนสงกรานต์ ปิดโรงเรียน ปิดห้างสรรพสินค้า ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งหากเชื้อระบาดมากกว่า 10 เท่า แต่มาตรการลดหย่อนลงมา 10 เท่า โอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายมีมากถึง 100 เท่า ยิ่งพบสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่กระจายได้ง่าย 1.7 เท่า คาดว่าตัวเลขผู้ป่วยจึงทวีคูณเป็น 170 เท่า

ห่วงเดินทางช่วงสงกรานต์ทำเชื้อแพร่กระจาย

นพ.ยง แสดงความกังวลว่าในช่วงสงกรานต์ หรือหลังสงกรานต์ คนวัยหนุ่มสาวที่ไม่มีอาการและเดินทางโดยไม่รู้ว่าตัวเองมีไวรัสอยู่ อาจนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ดังนั้นในช่วงสงกรานต์ประชาชนควรลดการเคลื่อนย้ายสถานที่หากไม่มีความจำเป็น หรือใช้มาตรการเคร่งครัดตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงจุดหมายปลายทาง ในเมื่อล็อก หรือบล็อกอะไรต่างๆ ไม่ได้แล้ว หากทุกคนช่วยกันจะช่วยควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมเป็นห่วงอย่างมาก การเคลื่อนย้ายประชากรเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การแพร่กระจายของโรคไปได้ใกล้ ขนาดสายพันธุ์อังกฤษยังหลุดเข้ามาได้อย่างไร ผมยังสงสัยในเมื่อไทยมี QS หากเป็นไปได้ใครที่ไม่มีความจำเป็นขอให้ลดการเคลื่อนย้ายประชากรน้อยที่สุดในช่วงสงกรานต์

ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมีภูมิต้านทาน แต่ยังเสี่ยงติดเชื้อ

นพ.ยง กล่าวถึงสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ทั่วโลก คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล ยืนยันว่าแม้สายพันธุ์อังกฤษจะแพร่กระจายได้เร็ว แต่วัคซีนยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม หากคนไทยฉีดวัคซีนทั้งประเทศ 100,000 โดสต่อวัน จะใช้เวลา 3 ปีในการเกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม แต่หากฉีดได้วันละ 300,000 โดสต่อวัน จะใช้เวลาเพียง 1 ปี เพื่อยุติ COVID-19 ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยว่าทุกคนไม่ต้องรีรอ เมื่อถึงคิวให้ฉีดวัคซีนอย่างเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนเพื่อลดอาการของโรคให้น้อยลง ป้องกันการนอนโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100% แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ยังติดเชื้อได้ การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 แล้ว ยังมีโอกาสติดเชื้อ แต่อาการจะน้อยลง หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว การศึกษาวัคซีน SINOVAC ก่อนฉีดเข็มที่ 2 เพียง 3 สัปดาห์ ตรวจวัดภูมิต้านทาน พบว่า 2 ใน 3 มีภูมิต้านทาน และ 1 ใน 3 ยังวัดภูมิต้านทานไม่ได้ หรืออยู่ในระดับต่ำ เชื่อว่าหลังฉีดครบ 2 เข็ม เกือบทั้งหมดจะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น แต่ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100%

นอกจากนี้ นพ.ยง ยังเห็นด้วยกรณีกระทรวงสาธารสุข เสนอ 5 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดง เพราะขณะนี้การระบาดในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก และเกิดกับคนอายุน้อยที่ไม่ค่อยมีอาการ หรืออาการน้อย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชี้เชื้อในสถานบันเทิงเป็น “สายพันธุ์อังกฤษ” แพร่เร็วกว่า 1.7 เท่า

เช็กด่วน! "คลัสเตอร์สถานบันเทิง" ลาม 15 จังหวัด 291 คน

"หมอนิธิ" ชงเคอร์ฟิว กทม.หยุดวงจร COVID-19

ศบค.แนะเช็กประกาศจังหวัดก่อนเดินทาง ยังไม่ปรับสีพื้นที่คุมโควิด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง