กองทัพเรือเตรียมแผนอพยพคนไทยในเมียนมา

ต่างประเทศ
7 เม.ย. 64
21:01
454
Logo Thai PBS
กองทัพเรือเตรียมแผนอพยพคนไทยในเมียนมา
แม้สถานการณ์ในเมียนมายังไม่มีสัญญาณรุนแรงถึงขั้นต้องอพยพคนไทยในเมียนมา แต่กองทัพก็เตรียมพร้อมใช้ศักยภาพและประสบการณ์วางแผนรับคนไทยหากมีความจำเป็น

ยังไม่มีความชัดเจนว่า สถานการณ์ในเมียนมาจะยุติลงในเร็ววัน การเตรียมพร้อมของฝ่ายความมั่นคงทุกด้านจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะหากเหตุการณ์ถึงขั้นจลาจลต้องอพยพคนไทยกลับประเทศ

หากเกิดเหตุไม่คาดคิดในกรณีที่การเดินทางด้วยอากาศยานไม่สามารถทำได้ หรือชายแดนทางบก เกิดการสู้รบของกองกำลังติดอาวุธ อีกหนึ่งทางเลือกคือแผนอพยพทางเรือ โดยใช้ศักยภาพและประสบการณ์ของกองทัพเรือ

 

เส้นทางอพยพทางเรือ ที่เป็นไปได้ในฝั่งทะอันดามัน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของทัพเรือภาคที่ 3 จะมีจุดเชื่อมต่อหลักของเรือโดยสารขนาดใหญ่ บริเวณท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต และท่าเรือทับละมุ จ.พังงา ที่จะสามารถรองรับการอพยพขนาดใหญ่ และนำคนไทยกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย  

หากย้อนภารกิจในอดีตกองทัพเรือ เคยอพยพคนไทยในต่างแดนมาแล้ว เมื่อปี 2531 สืบเนื่องจากนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างชาติครั้งใหญ่ของสิงคโปร์ พร้อมขีดเส้นตายให้แรงงานผิดกฎหมายต้องออกจากสิงคโปร์ภายใน 1 เดือน ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายที่เด็ดขาด

ตามข้อมูลของกองทัพเรือในขณะนั้นพบว่าต้องใช้เรือยกพลขึ้นบกราว 5 ลำ เช่น เรือหลวงพงัน เรือหลวงลันตา และเรือหลวงสีชัง จัดขบวนเรือขนาดใหญ่ไปรับแรงงานไทยในสิงคโปร์กลับบ้านอย่างปลอดภัย   

 

ปี 2546 จากเหตุการณ์เผาสถานทูตไทย ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กองทัพเรือ ได้ส่งเรือหลวงจักรีนฤเบศร ลอยลำอยู่บริเวณรอยต่อทางทะเลไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดตราด เตรียมพร้อมร่วมอพยพคนไทย ตามแผน "โปเชนตง 1" และ "โปเชนตง 2"

แต่เนื่องจากการอพยพคนไทยด้วยเครื่องบิน ซี-130 ตามแผน "โปเชนตง 1" ประสบความสำเร็จอย่างราบรื่น จึงไม่ถึงขั้นต้องใช้แผนสำรอง "โปเชนตง 2" อพยพคนไทยออกจากกัมพูชาโดยทางเรือ 

ข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ในปัจจุบันมีคนไทยในเมียนมาประมาณ 700 คน โดยมีการประเมินสถานการณ์เตรียมความพร้อมไว้ทุกขั้นตอน หากต้องอพยพคนไทยกลับประเทศ

พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณถึงขั้นต้องส่งเรือรบเตรียมพร้อมเพื่ออพยพคนไทยในเมียนมา แต่กองทัพเรือก็มีเรือรบขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับนี้ได้

 

ตามวงรอบการปฏิบัติงานจะมีเรือรบขนาดใหญ่ ที่หมุนเวียนปฏิบัติงานในฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของทัพเรือภาคที่ 3 พร้อมในภารกิจต่างๆอยู่แล้ว

โฆษกกองทัพเรือ ระบุด้วยว่า กองทัพเรือยังคงติดตามและเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวโรฮิงญาในแถบอันดามัน แต่เป็นที่สังเกตว่า ปีนี้พบการเคลื่อนไหวของโรฮิงญาในทะเลอันดามันน้อยลง

เนื่องจากประเทศต้นทางมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น แต่การลาดตระเวนรักษาความมั่นคงทางทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยก็เป็นภารกิจที่ต้องเข้มข้นไม่ว่าจะมีสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง