The EXIT : ชีวิตชุมชนหลังกำแพง กับ โควิด-19

สังคม
13 เม.ย. 64
11:44
1,082
Logo Thai PBS
The EXIT : ชีวิตชุมชนหลังกำแพง กับ โควิด-19
ทองหล่อ ย่านเศรษฐกิจ ราคาซื้อขายที่ดินตารางวาละ 1.3-1.6 ล้านบาท เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ยังมีชุมชนแอดอัดเล็กๆ ที่แทรกตัวอยู่ระหว่างกำแพงความกว้างแค่ 3 เมตร กับผู้คนอีกกว่า 300 ชีวิต ที่ทำงานในภาคบริการคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับย่านนี้
สถานบันเทิงก็มองเรื่องรายได้ คนไปเที่ยวก็มองเรื่องว่ามีเงิน ก็ไปเที่ยว แต่ไม่ได้จัดระบบของตัวเอง เที่ยวยังไงไม่ให้ติดโควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาดส่งผลกระทบ พอถึงเวลาแพร่เชื้อก็ควบคุมไม่ได้ สุดท้ายก็กระทบกันไปหมด

ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ เป็นชุมชนแออัดดั้งเดิม ที่อาศัยมานานหลายสิบปี มีทั้งหมด 44 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 300 คน ชุมชนอยู่ระหว่างการยื่นขอจัดทำโฉนดชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย

ผู้คนที่นี่ ส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการย่านทองหล่อ เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน พนักงานส่งของ และพนักงานในร้านอาหาร

โควิดส่งผลให้หลายคนตกงานตั้งแต่การระบาดระลอกแรก และหลายคนเริ่มได้รับความเดือดร้อนที่ชัดเจนขึ้น หลังการระบาดระลอกล่าสุด ที่พบว่า มาจาก สถานบันเทิงย่านทองหล่อ

 

สุจิรา วงศ์ธารทิพย์ ประธานชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ บอกว่า แม้จะกังวลกับการระบาดเพราะเป็นพื้นที่ย่านเดียวกัน แต่คนในชุมชนยังคงต้องออกไปทำมาหากิน เพราะส่วนใหญ่ยังอาศัยรายได้รายวันเลี้ยงปากท้อง

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบชัดเจน คือกลุ่มแม่ค้าขายอาหาร ที่ไม่มีลูกค้าจากพื้นที่ด้านนอกเข้ามาซื้อเหมือนแต่ก่อน ขณะที่ชุมชนเองพยายามสอดส่องดูแลกันเอง ด้วยการสำรวจอาการของสมาชิกแต่ละบ้าน 

ชีวิตชุมชนหลังกำแพง 

ผู้สื่อข่าวเดินสำรวจพบว่า ที่ตั้งของชุมชนถูกขนาบด้วยกำแพงของสน.ทองหล่อ และคอนโดมิเนียม ความห่างของกำแพงทั้ง 2 ฝั่ง ที่บ้านแต่ละหลังต้องแทรกตัวอยู่กว้างแค่ราว 3 เมตร บางหลังมีสมาชิกอยู่รวมกันมากกว่า 5 คน ทำให้ไม่มีพื้นที่มากพอที่จะเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ 

จากการพูดคุยกับชาวชุมชน พบว่า การระบาดระลอกล่าสุด มีผลต่อรายได้ของคนในชุมชนมากกว่าครั้งที่ผ่านมา และการระบาดที่เกิดขึ้นในสถานบันเทิงย่านทองหล่อที่ดูเหมือนไม่ต่างจากการระบาดรอบแรกมากนัก ก็ถูกตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุม 

 

ร้านขายอาหารหน้าชุมชน ติดกับด้านหลัง สน.ทองหล่อ เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจาก สน.ทองหล่อ ที่พบว่า มีตำรวจติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ลูกค้าไม่กล้าเข้ามาซื้อ จากที่เคยทำกับข้าววันละ 7-8 อย่าง ต้องลดจำนวนลง

นูรีย๊ะ สุขดี แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวไก่ บอกว่า สัปดาห์หลังการระบาดแทบจะไม่มีคนนอกเดินเข้ามาซื้ออาหาร ผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน

เธอต้องย้ายลูกทั้ง 3 คน จากโรงเรียนเอกชน มาเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้าน เพราะไม่สามารถแบกรับภาระไหว

ขณะเดียวกันเข้าใจว่า สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับคนหลายกลุ่ม รวมถึงคนในชุมชน ที่เข้าไปอยู่ในภาคบริการตามสถานบันเทิงต่างๆ แต่น่าจะมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ดีกว่านี้ เพราะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดแล้ว ผลกระทบกินวงกว้าง และหนักมากสำหรับคนหาเช้ากินค่ำอย่างเธอ

 

 

ชุมชนแออัด จัดเป็นกลุ่มเปราะบาง ในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 คณะทำงานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่า ที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้เป็นผู้ได้รับผลกระทบด้านความเป็นอยู่เป็นหลัก เพราะหากย้อนกลับไปดูวงรอบการระบาด

คนเปราะบางกลุ่มนี้ มีสัดส่วนติดเชื้อน้อยมาก แต่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักมาก

ข้อมูลเครือข่ายสลัม 4 ภาค พบว่า ทั่วประเทศ มีชุมชนแออัด ที่เป็นสมาชิกมากกว่า 80 ชุมชน ประชากรมากกว่า 5,000 คน

ภายใต้สถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งถูกประเมินว่าจะขยายตัวรวดเร็ว คนกลุ่มนี้ยังต้องออกไปใช้ชีวิตทำมาหากิน ขณะที่มาตรการเยียวยาจากภาครัฐ ถูกมองว่า ยังเป็นการให้ที่ไม่ได้สร้างความยั่งยืน รวมถึงความกังวลที่จะเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข

ชมคลิปข่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง