แพทย์ชี้ COVID-19 ติดซ้ำได้ แนะเร่งฉีดวัคซีนคุมระบาดใหญ่

สังคม
19 เม.ย. 64
11:10
4,984
Logo Thai PBS
แพทย์ชี้ COVID-19 ติดซ้ำได้ แนะเร่งฉีดวัคซีนคุมระบาดใหญ่
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุ ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วหายป่วย ภูมิต้านทานจะเริ่มลดลงตั้งแต่ 3-6 เดือนหลังติดเชื้อ และมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้

วันนี้ (19 เม.ย.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า COVID-19 เป็นโรคที่เป็นแล้วเป็นอีกได้ โดยจากการติดตามระยะยาวของภูมิต้านทานผู้ที่หายป่วยใกล้ครบ 1 ปี พบว่าภูมิต้านทานจะเริ่มลดลงตั้งแต่ 3-6 เดือนหลังติดเชื้อ

โดยโรค COVID-19 เป็นโรคที่มีระยะฟักตัวสั้น เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจากโรคหัด หรือ สุกใสที่มีระยะฟักตัวยาวนานกว่า ซึ่งโรคที่มีระยะฟักตัวนานแม้ภูมิต้านทานจะลดลงต่ำ แต่เมื่อมีการติดเชื้อใหม่กว่าจะเกิดโรคร่างกายก็สามารถสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้เร็วกว่าการติดเชื้อครั้งแรก วัคซีนจึงมีการป้องกันโรคได้ดีกว่า

สำหรับภูมิต้านทานจะสูงได้ก็ต่อเมื่อมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนเป็นระยะ จึงเป็นเหตุให้โรคทางเดินหายใจที่มีระยะฟักตัวสั้น การใช้วัคซีนจึงไม่ถาวร จำเป็นจะต้องมีการกระตุ้นให้ภูมิต้านทานงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งโรค COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นแล้วจากการติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นได้อีก แต่อาการจะลดลงและมีโอกาสสูงมากที่จะต้องให้วัคซีนเข็มที่ 3

โควิด-19 เป็นโรคที่เป็นแล้ว เป็นอีกได้ จากการติดตามระยะยาวของภูมิต้านทาน ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด 19 ที่ศูนย์ฯ...

โพสต์โดย Yong Poovorawan เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน 2021

 

ไม่ระวังตนเอง "ร้ายกาจ" กว่าไวรัสกลายพันธุ์

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึง ความกังวลเรื่องการกลายพันธุ์ โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมของ COVID-19 เกิดจากการปล่อยให้มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง

การศึกษาที่รองรับเรื่องการผันแปรของรหัสพันธุกรรมว่ามีผลจริง ๆ คือต้อง พิสูจน์ให้ได้ว่าการผันแปรดังกล่าวส่งผลทำให้เกิดมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะส่งผลให้มีการติดเชื้อซ้ำซ้อนครั้งที่สองได้ แม้ว่าห่างกันจากการติดเชื้อครั้งแรกเพียงหกสัปดาห์

การจะสรุปว่าติดได้เก่งขึ้นหรือรุนแรงขึ้น จำเป็นที่ต้องพิจารณาถึงปัจจัยร่วมอย่างอื่น แต่ตัวที่ร้ายกาจที่สุด ที่ทำให้ควบคุมไม่อยู่ คือ พฤติกรรมไม่ระวังตนเอง ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้การแพร่ระบาดวิบัติ การผันแปรรหัสพันธุกรรม จะนำไปสู่การติดเชื้อใหม่ การฉีดวัคซีนไม่ได้ผล และอาจส่งผลไปทำให้การตรวจหาเชื้อไม่เจอด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง