สธ.เตือนอย่าหลงเชื่อ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน

สังคม
19 เม.ย. 64
11:58
7,087
Logo Thai PBS
สธ.เตือนอย่าหลงเชื่อ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน
สธ.เตือนอย่าหลงเชื่อข้อมูลแชร์ในโซเชียลฉีดวัคซีน COVID-19 ซิโนแวคแล้วภูมิไม่ขึ้น ชี้ชุดตรวจเร็วหลายชนิดใช้ตรวจภูมิคุ้มกันกรณีฉีดวัคซีนไม่ได้ ต้องตรวจด้วยวิธีเฉพาะ ขณะที่อย.ไม่แนะนำซื้อชุดตรวจเองห่วงแปลผลผิดเสี่ยงแพร่เชื้อ

วันนี้ (19 เม.ย.2564) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึง จากกรณีที่มีผู้เสนอให้รัฐบาลจัดหาชุดตรวจเชื้อ COVID-19 ด้วยตัวเอง (Self- test) เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจเชื้อได้ด้วยตนเอง เหมือนในประเทศอังกฤษ พร้อมเสนอให้ผู้ป่วยที่อาการไม่หนักรักษาตัวที่บ้านได้นั้น อย.ขอชี้แจงว่า ชุดตรวจโควิด-19 โดยการหาเชื้อจากโปรตีนดังกล่าว เรียกว่า Rapid Ag test มีลักษณะเป็นแถบตรวจ ให้หยดน้ำยาที่มีเนื้อเยื่อจากการแยงจมูก หรือสว็อป ชุดทดสอบนี้หากตรวจในช่วงแรกหลังรับเชื้อ หรือเลยช่วง 7-10 วันหลังมีอาการ อาจให้ผลลบปลอม จนนำไปสู่การแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้

การแปลผลต้องอาศัยความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ซึ่งต่างจากการตรวจหาเชื้อจากสารพันธุกรรมด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ที่สามารถตรวจพบเชื้อได้แม้มีปริมาณเชื้อไม่มาก นอกจากนี้ ยังมีการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธีอื่น ได้แก่ RT-LAMP ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว เช่น COXY-AMP ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางห้องปฏิบัติการในการตรวจ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง

นพ.สุรโชค กล่าวว่า ปัจจุบัน อย.ได้อนุญาตน้ำยาที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก มีความแม่นยำมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ โดยจำนวนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ได้รับอนุญาตแล้ว มีมากกว่า 80 ผลิตภัณฑ์ จากหลากหลายบริษัท เพียงพอสำหรับการตรวจวิเคราะห์ ในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีมากกว่า 270 แห่งทั่วประเทศ

ชี้ใช้ชุดตรวจประเมินผลภูมิคุ้มกันวัคซีนไม่ได้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรณีโซเชียล มีเดียเผยแพร่ข้อมูลว่าฉีดวัคซีน COVID-19 ของซิโนแวค ครบ 2 เข็มแล้วตรวจด้วยชุดตรวจเร็ว (Rapid Test) ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นว่า การตรวจด้วยชุดตรวจเร็วบางชนิดเป็นการตรวจปลอกหุ้มสารพันธุกรรมจะไม่สามารถตรวจพบได้ การตรวจภูมิคุ้มกันต้องใช้วิธีตรวจที่เฉพาะต่อ spike protein วิธีหนึ่งที่เป็นมาตรฐาน คือ PRNT โดยการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโคโรนาไวรัส และต้องตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 โดยนำน้ำเหลือง ของผู้ที่ได้รับวัคซีนมาใส่ในจานเพาะเชื้อที่มีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ และเจือจางเลือดลงครั้งละเท่าตัว จนถึงจุดที่สามารถทำลายเชื้อไวรัสลงครึ่งหนึ่ง จะเป็นจุดที่บ่งบอกระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า นายสาธิต ปิตะเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้ตรวจภูมิคุ้มกันต่อ spike protein ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประมาณ 15 วันหลังฉีดครบ 2 เข็ม ก็พบว่ามีภูมิคุ้มกันขึ้น และผลตรวจของตนเองหลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม 14 วัน พบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันสามารถทำลายไวรัสสายพันธุ์ที่พบแรกๆ ในประเทศตั้งแต่เริ่มมีการระบาด มีระดับสูงถึง 115 สายพันธุ์อู่ฮั่นระดับภูมิคุ้มกันสูง 85 และสายพันธุ์ที่ระบาดช่วงเดือนม.ค.2564 สูง 90

ส่วนระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ G ที่กำลังระบาดทั่วโลกลดลงอยู่ที่ 40-50 ซึ่งยังสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ และระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่บริษัทซิโนแวคได้วิจัยเพื่อยื่นขอทะเบียนที่หลังฉีด 2 เข็ม มีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ที่ 24

งานวิจัยของชิลีหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เดือนภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก หลังฉีด 14 วันร้อยละ 47.8, หลังฉีด 28 วันและหลังฉีด 42 วัน ร้อยละ 95.6  เป็นข้อยืนยันว่าได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค และกำลังศึกษาวิจัยระดับภูมิคุ้มกันโรคในคนไทย

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับเครือข่าย เฝ้าระวัง ติดตามการกลายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ แอฟริกาใต้ บราซิล แคลิฟอร์เนีย ไนจีเรีย และล่าสุดคือสายพันธุ์อินเดีย B1.617 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่ง คือ E484 และ L452

ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าการกลายพันธุ์เกี่ยวข้องการการระบาดที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในอินเดียเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ ทำให้อาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ และวัคซีนสามารถป้องกันได้หรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติดชีวิตนักข่าวออนไลน์กักตัว 14 วัน

ติดเชื้อเพิ่มอีก 98 คน "ชลบุรี" ระลอกใหม่สะสม 1,283 คน

"สาธิต"สั่งแจงไทม์ไลน์พี่ชายนายกเล็กระยองติด COVID-19

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง