เช็กกฎหมาย ! รพ.ปฏิเสธคนไข้-ผู้ติดเชื้อปกปิดข้อมูล

สังคม
20 เม.ย. 64
11:01
2,837
Logo Thai PBS
เช็กกฎหมาย ! รพ.ปฏิเสธคนไข้-ผู้ติดเชื้อปกปิดข้อมูล
กางกฎหมายบังคับใช้ช่วง COVID-19 สถานพยาบาลปฏิเสธผู้ติดเชื้อฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท กรณีพบผู้ติดเชื้อไม่แจ้งเจ้าพนักงานภายใน 3 ชั่วโมงปรับ 20,000 บาท ส่วนผู้ปกปิดไทม์ไลน์ตัวเองคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

วันนี้ (20 เม.ย.2564) หลังจากพบปัญหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมาก และเกิดปัญหาเตียงไม่เตียงพอ บางแห่งพบการร้องเรียนโรงพยาบาลปฏิเสธรับคนไข้ ไทยพีบีเอสออนไลน์รวบรวมข้อมูลรายละเอียดทางข้อกฎหมาย โดยศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุไว้ 3 กรณีว่าหากฝ่าฝืน มาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการระบาด COVID-19 อยู่หรือไม่ ระวัง! ปฏิบัติดังต่อไปนี้อาจมีโทษ

สถานพยาบาลปฏิเสธผู้ติดเชื้อ

สถานพยาบาลต้องช่วยเหลือเยียวยา รักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อให้พ้นจากอันตรายและหากไม่ช่วยเหลือ เยียวยา รักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ

ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาพ:ศูนย์ข้อมูล COVID-19

ภาพ:ศูนย์ข้อมูล COVID-19

ภาพ:ศูนย์ข้อมูล COVID-19

 

โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ออกประกาศเรื่องแนวทางการป้องกัน ควบคุมและส่งต่อผู้ติดเชื้อ COVID-19 กรณีสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.64 โดยกําหนดให้ห้องปฏิบัติการของคลินิกที่จะให้บริการตรวจคัดกรอง และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติด COVID-19 จะต้องผ่านการทดสอบความชํานาญทางห้องปฏิบัติการตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กําหนด

และก่อนการให้บริการจะต้องให้คําปรึกษา แนะนําเกี่ยวกับการรับบริการตรวจคัดกรองแก่ผู้รับบริการ เมื่อปรากฏผลการตรวจคัดกรองแล้ว จะต้องแจ้งให้ผู้รับบริการทราบทันที หากผลการตรวจคัดกรองพบว่าผู้รับบริการป่วย COVID-19 ทางห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองต้องแจ้งผลการตรวจคัดกรอง พร้อมให้คําแนะนําเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ พร้อมประสานกับสถานพยาบาลของรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับตัวผู้ป่วยไปรักษาพยาบาลโดยทันที

หากคลินิกแห่งใดไม่ปฏิบัติตามก็จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายสถานพยาบาล สบส.จะดําเนินการตาม กฏหมายโดยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด 

พบผู้ติดเชื้อ/สงสัยว่าติดเชื้อ ไม่แจ้งเจ้าพนักงานควมคุมโรคติดต่อ

มาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 กรณีไม่แจ้งเจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคติดต่อเมื่อพบผู้ติดเชื้อ/ผู้สงสัยว่าติดเชื้อ ดังนี้ 1.พบที่บ้าน เจ้าบ้าน/ผู้ควบคุมดูแลบ้านแพทย์ผู้ทำการรักษา 2.พบในสถานพยาบาล ผู้รับผิดชอบ สถานพยาบาล 3.พบในสถานที่ชันสูตรผู้ทำการชันสูตร/ผู้รับผิดชอบทำการชันสูตร 4. พบในสถานประกอบการ เจ้าของ/ผู้ควบคุมสถานประกอบการ

สิ่งที่ต้องทำคือต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคติดต่อในส่วนกลาง/ในพื้นที่ภายใน3 ชั่วโมงนับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อ ถ้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการแจ้ง ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ผู้ติดเชื้อปิดบังข้อมูล Timeline

สิ่งที่ต้องทำ ในการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อ ผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ ผู้สัมผัสโรค ต้องแจ้งข้อมูลต่อพนักงงานควบคุมโรคติดต่อ เช่น ประวัติการเดินทาง การทำงาน การสัมผัสผู้ติดเชื้อ พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรค

หากแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และถ้าไม่อำนายความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคตืดต่อ ฝ่าฝืน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

อ่านข่าวเพิ่ม รพ.สมุทรปราการ ผู้ป่วยปิดไทม์ไลน์ "หมอ-พยาบาล" กักตัว 11 คน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เคยให้สัมภาษณ์กรณีมีผู้ป่วย COVID-19 บางรายปกปิดข้อมูลในไทม์ไลน์ว่าอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.กรณีที่บุคคลให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน หรือมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลซึ่งควรต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท รวมถึงอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา! เคสหนัก COVID-19 ระลอก 3 เชื้อดุอยู่ในร่างกายนานขึ้น

นายกฯ สั่งเอาผิดทันที ผู้ป่วยปกปิดไทม์ไลน์ COVID-19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง