ติดโควิด รักษาครบ 14 วัน ต้องตรวจหาเชื้อก่อนกลับบ้านไหม ?

สังคม
20 เม.ย. 64
11:08
135,849
Logo Thai PBS
ติดโควิด รักษาครบ 14 วัน ต้องตรวจหาเชื้อก่อนกลับบ้านไหม ?
เพจดัง - กรมการแพทย์ ไขคำตอบ ติดเชื้อ COVID-19 รักษาในโรงพยาบาลจนครบกำหนด 14 วัน ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ COVID-19 ซ้ำก่อนออกจากโรงพยาบาล เพราะอาจพบซากเชื้อจนทำให้ติดเชื้ออยู่ พร้อมแนะวิธีปฏิบัติหลังกลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติ

วันนี้ (20 เม.ย.2564) เพจ Drama-addict ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "มีคำถามมาจากลูกเพจว่า ถ้าติด COVID-19 เข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือ Hospitel ครบ 14 วัน หมอให้กลับบ้านแล้ว ต้องตรวจ COVID-19 อีกรอบก่อนกลับไหม" 

โดยทางเพจ ระบุว่า คำตอบ คือ ไม่ต้อง เพราะปัจจุบัน พบว่า ต่อให้หายแล้วแต่นำคนไข้ไปตรวจก็อาจจะพบซากเชื้อ (ซากสารพันธกรรมของไวรัส) ในผู้ป่วยได้อีกหลายสัปดาห์จนถึงหลักเดือน แต่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้

ดังนั้น ถ้าครบระยะเวลาที่กำหนด แล้วอาการดีขึ้น ก็กลับบ้านไม่ต้องทำ swab ก่อนกลับบ้าน เพราะถ้าจะให้ตรวจจนไม่พบซากเชื้อในร่างกาย มีแสนเตียงให้แอดมิตก็ไม่พอ หลังกลับบ้านก็ใช้ชีวิตตามปรกติได้ ไม่ต้องกักตัว แต่ก็ใส่หน้ากากล้างมือบ่อย ๆ ด้วย

มีคำถามมาจากลูกเพจว่า ถ้าติดโควิด เข้ารักษาใน รพ หรือฮอสพิเทล ครบ 14 วัน หมอให้กลับบ้านแล้ว...

โพสต์โดย Drama-addict เมื่อ วันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2021

 
สำหรับข้อมูลดังกล่าว เพจดังอ้างอิงจากข้อมูลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งระบุถึงแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในส่วนของคำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย COVID-19 โดยระบุว่า ผู้ป่วย COVID-19 ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจอยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้น ๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่สถานที่รัฐจัดให้ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายสนิท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์แรกผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากขึ้นได้ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว อาจจะยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของ COVID-19 ในน้ำมูกและหรือน้ำลายของผู้ป่วยได้เป็นเวลานาน อาจจะนานถึง 50 วัน

หายป่วยโควิดแล้วอาจตรวจเจอซากเชื้อได้อยู่

มีหลายการศึกษาพบว่าไม่สามารถเพาะเชื้อได้จากสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจของผู้ป่วยที่มีอาการมาแล้วนานกว่า 8 วัน ทั้งที่ยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยวิธี RT-PCR สำหรับไวรัสโคโรนา 2019 มีหลายสายพันธุ์บางสายพันธุ์อาจจะอยู่ได้นานขึ้น แต่ยังไม่แน่ชัดว่านานขึ้นกี่วัน สารพันธุกรรมที่ตรวจพบ

หลังจากผู้ป่วยมีอาการมานานแล้ว อาจเป็นเพียงซากพันธุกรรมที่หลงเหลือที่ร่างกายยังกำจัดไม่หมด นอกจากนี้การตรวจพบสารพันธุกรรมได้หรือไม่ได้ ยังอยู่ที่คุณภาพของตัวอย่างที่เก็บด้วย ดังนั้นในแนวทางเวชปฏิบัติฯ COVID-19 นี้ จะระบุว่า ไม่ต้องทำ swab ก่อนอนุญาตให้ผู้ป่วยออกจาก
สถานพยาบาล เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรักษา และการพบเชื้อจากการตรวจด้วย RT-PCR มิได้หมายความว่าจะสามารถแพร่เชื้อต่อได้


ทั้งนี้ แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก ตามเกณฑ์ข้างต้น ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันเชื่อว่าไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยที่พ้นระยะการแพร่เชื้อแล้วสามารถด ารงชีวิตได้ตามปกติ การปฏิบัติตนในการป้องกันการติดเชื้อเหมือนประชาชนทั่วไป จนกว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้างได้อย่างมั่นใจ

หายจากโควิด กลับบ้านแล้วต้องทำอะไรบ้าง?

คำแนะนำในการปฏิบัติตนเมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล หลังแพทย์จำหน่ายให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน

  1. ไม่จำเป็นต้องกักตัวหรือแยกตัวจากผู้อื่นเพราะหายจากโรคแล้ว (ซึ่งต่างจากกรณีเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงหรือเพิ่งจะได้รับการวินิจฉัย บุคคลเหล่านี้ยังอยู่ในระยะแพร่เชื้อ จึงต้องกักตัวหรือแยกตัวจากผู้อื่น)

  2. การดูแลสุขอนามัย ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น

  3. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระหรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

  4. ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น

  5. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุก สะอาด และมีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ

  6. หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจ ไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางมาสถานพยาบาล แนะนำให้สวมหน้ากากระหว่างเดินทางตลอดเวลา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง