โควิด-19 ระลอก 3 ซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน

เศรษฐกิจ
20 เม.ย. 64
19:51
1,961
Logo Thai PBS
โควิด-19 ระลอก 3 ซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน
เหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมาก มาจากการหดตัวของเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะไตรมาส 2 ปีก่อน ที่เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง ร้อยละ 12 ซึ่งถือว่าเป็นระดับตํ่าสุดของวิกฤติครั้งนี้

 

สิ้นปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือน พบว่ามีมูลหนี้รวม 14.02 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่ ร้อยละ 89.3 สูงสุดในรอบ 18 ปี

 

แต่ไส้ในสะท้อนว่า ทั้งผู้กู้ และผู้ปล่อยกู้ต่างก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน เติบโตต่ำสุดในรอบ 4 ปี

 

ส่วนแนวโน้มในปี 2564 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบ ร้อยละ 89.0-91.0 ต่อจีดีพี

 

แต่ตัวเลขนี้ สัดส่วนอาจจะสูงขึ้น จากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า โควิด-19 ระลอก 3 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่ารอบที่แล้ว และผลดังกล่าวจะกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปที่รายได้ และกดดันหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติม

หลังโควิดระลอก 3 กลุ่มอาชีพอิสระ อาชีพรับจ้าง อยู่ในฐานะลำบากต้องขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เพราะไม่มีคนมาใช้บริการ หลังจากหลายภาคส่วนออกมาตรการทำงานที่บ้าน Work From Home ทำให้รายได้ก็ลดลง แถมยังมีหนี้สิน อยากให้รัฐบาลเร่งเยียวยาและฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม เพื่อจะทำให้พวกเขากลับมาทำมาค้าขายได้ปกติ

สุเทียน โสทกมาต คนขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แยกห้วยขวาง ซึ่งปกติเป็นย่านธุรกิจใกล้สถานีรถไฟฟ้า ทำให้มีลูกค้าใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน มีรายได้มากกว่า 1,000 บาทต่อวัน

แต่ผลของมาตรการ Work from home จากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รายได้เขาลด บางวันเหลือเพียง 60 บาท สุเทียน บอกว่า โควิดรอบ 3 หนักกว่าที่ผ่านมา เพราะคนกังวลมาก จนแทบไม่เหลือลูกค้ามาใช้บริการ

ไม่ต่างจากผู้ให้บริการคนอื่น ที่บางวันแทบไม่มีรายได้เข้ามา จากช่วงเช้าที่เคยคึกคัก เต็มไปด้วยลูกค้าประเภทมนุษย์เงินเดือนกลับต้องซบเซา แม้คิดจะหาอาชีพเสริม เช่น ขับแกร็บส่งเอกสาร แต่ก็ไม่ได้มีรายได้มากขึ้น เพราะตั้งแต่โควิด-19 คนตกงานจำนวนมาก หันมาทำอาชีพนี้เยอะขึ้น

อาณัติ ทองมอญ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง บอกว่า สถาบันการเงินเริ่มกลับมาทวงถามหนี้ หลังหมดมาตรการช่วยเหลือ เดิมทีเขาคิดว่าจะกลับมาส่งเงินกู้ได้อีกครั้ง เพราะไม่คิดว่าโรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกรอบ 3 แม้จะทำอาชีพ ขับส่งเอกสาร แต่ก็ไม่งานเข้ามา

เช่นเดียวกับ แม่ค้ารายย่อย บอกว่า หลังจากทุกคนหยุดเชื้ออยู่บ้านยอดขายก็ตกลง ร้อยละ 20 เพราะปกติลูกค้าจะเป็นพนักงานบริษัท และหมดมาตรการรัฐ ยอดขายยิ่งลดลง

ในช่วงเวลา 14 วันหลังจากนี้ กลุ่มอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้น้อย ต่างคาดหวังให้มาตรการของ ศบค. จะได้ผลเพื่อทำให้สถานการณ์กลับมาปกติ และกลุ่มอาชีพอิสระอย่างพวกเขา กลับมาทำมาค้าขายได้เหมือนเดิม

ก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติมองว่า หนี้ครัวเรือนสูง จะเป็นปัญหาระยะสั้น ที่ผ่านมา จึงเน้นมาตรการยืดหนี้ ลดค่างวด แต่ปรากฎว่าปัจจุบัน ไทยยังเจอการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลให้ปัญหาหนี้สินไม่หมดไปโดยง่าย

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า เป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงในระยะยาว และการแบกรับภาระหนี้ที่มากเกินไปของประชาชนจะเป็นตัวฉุดรั้งการบริโภค และการลงทุนในประเทศ แบงก์ชาติ จึงอยากให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ และลดมูลหนี้ แต่ก็ต้องขึ้นกับเจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อประชาชนมีรายได้ลดลง ก็ยิ่งทำให้ความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง แบงก์ชาติ กำลังดูว่าถ้าสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ ยืดหนี้แล้ว จะทำอย่างไร ทั้งนี้ ปัญหาด้านรายได้ของลูกหนี้รายย่อย พวกเขาไม่ต้องการสินเชื่อใหม่ แต่ต้องการรายได้ ถ้าเพิ่มรายได้ไม่ได้ ก็ต้องลดหนี้ ลดภาระ และปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการสภาพคล่อง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง