ไทยติดโควิดเพิ่ม 1,458 คน เสียชีวิตอีก 2 คน ปอดอับเสบรุนแรง

สังคม
21 เม.ย. 64
12:18
883
Logo Thai PBS
ไทยติดโควิดเพิ่ม 1,458 คน เสียชีวิตอีก 2 คน ปอดอับเสบรุนแรง
ไทยติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 1,458 คน ยอดสะสม 46,643 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และภูมิแพ้ พบปอดอักเสบรุนแรง ส่วนเคส 6 คนเกิดอาการอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีน เป็นอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกชา ล่าสุดฟื้นตัวดีขึ้น

วันนี้ (21 เม.ย.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,458 คน ยอดติดเชื้อสะสม 46,643 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน เสียชีวิตสะสม 110 คน หายป่วยแล้ว 29,371 คน รักษาตัวอยู่ 17,162 คน อยู่ใน รพ. 13,797 คน รพ.สนาม 3,365 คน


ผู้เสียชีวิตรายที่ 109 เป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง และโรคอ้วน พบประวัติเริ่มมีไข้ ไอ ในวันที่ 13 เม.ย. และตรวจหาเชื้อวันที่ 14 เม.ย. ทราบผลติดเชื้อวันที่ 17 เม.ย. และเข้ารักษาโดยมีอาการเหนื่อยหอบ ผลเอ็กซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง ต่อมาวันที่ 19 เม.ย. ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในวันเดียวกัน


ผู้เสียชีวิตรายที่ 110 เป็นชายไทย อายุ 32 ปี มีโรคประจำตัวภูมิแพ้ พบประวัติสัมผัสผู้ป่วยเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ต่อมาวันที่ 8 เม.ย. เริ่มมีอาการไข้ต่ำ มีเสมหะปนเลือด ในวันที่ 15 เม.ย. มีอาการเหนื่อยมากขึ้น และวันที่ 16 เม.ย.เข้ารักษาใน รพ. ผลเอ็กซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง ต่อมาอาการแย่ลงและเสียชีวิตในวันที่ 19 เม.ย.

 

สำหรับ กทม.มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 365 คน ยอดสะสม 4,329 คน ปริมณฑล ติดเชื้อเพิ่ม 205 คน ยอดสะสม 2,656 คน จังหวัดอื่น ๆ ติดเชื้อเพิ่ม 884 คน ยอดสะสม 10,646 คน พบปัจจัยเสี่ยงสถานบันเทิง ตลาด ชุมชน และพบปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ และการติดเชื้อในครอบครัว

 

5 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ กทม. เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นนทบุรี พบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้

 

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนสงสัยว่าตนเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ แนะนำให้ตรวจหาเชื้อในสถานที่ที่มีมาตรฐาน เพื่อป้องการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น และในช่วงรอฟังผลขอให้เคร่งครัดกักตัว แยกห้อง เว้นระยะ ไม่ไปที่ชุมชน และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

เมื่อได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 ขอให้ติดต่อไปยังสถานพยาบาลที่ตรวจว่า ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ส่วนใหญ่ รพ.จะคัดแยกความรุนแรงของอาการว่าอยู่ในระดับใด เพื่อส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม ยกตัวอย่างโรงเรียนแพทย์ที่ต้องสงวนเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนัก

ส่วนข้อปฏิบัติเมื่อทราบผลติดเชื้อ COVID-19 ให้เตรียมเอกสารหลักฐาน โทรศัพท์แจ้ง รพ.ที่ตรวจก่อน หากยังหาเตียงไม่ได้ภายใน 1-2 วัน โทร. 1668, 1330 หากมีไข้สูง หายใจเหนื่อย ถ่ายเหลวหลายครั้ง โทร. 1669 พร้อมย้ำว่าผู้ติดเชื้อต้องเข้าสู่ระบบการดูแลของภาครัฐ ส่วนการดูแลตัวเองที่บ้านเป็นเพียงช่วงระหว่างรอเตียงและลดการแพร่เชื้อไปยังคนรอบข้าง


พญ.อภิสมัย ตอบประเด็นเคสรับวัคซีนและมีอาการอัมพฤกษ์ 6 คน ว่า ที่ประชุม EOC ได้รายงานเคสดังกล่าว โดย สธ.มีคณะกรรมการซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคสมอง เข้ามาตรวจสอบ เบื้องต้นมีรายงานว่า อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เรียกว่า โรคอัมพฤกษ์ แต่เป็นอาการคล้ายอัมพฤกษ์ หรือสโตร๊ก มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกชา และเช้านี้มีรายงานว่าทั้ง 6 คน ฟื้นตัวดีขึ้น

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง