แจง 6 คนอาการสโตรกโยงฉีดซิโนแวค-ไม่ระงับฉีดต่อ

สังคม
21 เม.ย. 64
16:31
13,290
Logo Thai PBS
แจง 6 คนอาการสโตรกโยงฉีดซิโนแวค-ไม่ระงับฉีดต่อ
แพทย์ แจง 6 คน เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หลังรับวัคซีน "ซิโนแวค" คาดเกี่ยวข้องกับวัคซีน ระบุเป็นกลุ่มอาการคล้ายโรคทางระบบประสาท แต่เป็นชั่วคราว ขณะที่ล็อตดังกล่าวฉีดไปกว่า 300,000 คน ยังไม่พบผู้มีอาการคล้ายกลุ่มนี้

วันนี้ (21 เม.ย.2564) นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีถึงกรณีผู้ได้รับวัคซีน COVID-19 ใน จ.ระยอง แล้วเกิดการการคล้ายอัมพฤกษ์ ว่า ที่พบรายงานการเกิดอาการไม่พึ่งประสงค์ โดยวัคซีนตัวดังกล่าวเป็นวัคซีน CoronaVac Lot No. J202103001 ล็อตเดียวกันทั้ง 6 คน

อาการทั้ง 6 คน มีอาการหลังรับวัคซีนตั้งแต่เวลา 5-30 นาที เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. จำนวน 1 คน วันที่ 6 เม.ย. จำนวน 1 คน วันที่ 8 เม.ย. จำนวน 2 คน และวันที่ 9 เม.ย. จำนวน 2 คน โดยอาการที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับระบบทางเดินสมอง พบอาการชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรง และมีอีก 1 คน มีอาการชาแต่ไม่มีอาการอ่อนแรง

ผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ทั้งหมดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 1 คน มีโรคประจำตัว เป็นมะเร็ง อีก 1 คน มีไขมันในเลือดสูง มี 2 คน น้ำหนักเกิน และกินยาคุมกำเนิด 4 คน

นพ.ทวีทรัพย์ ย้ำว่า การฉีดวัคซีนได้ดำเนินการฉีดแล้วกว่า 600,000 คน และติดตามอาการไม่พึ่งประสงค์ทุกคน ไม่ว่าจะเกิดอาการรุนแรงหรือไม่ เพื่อจะได้เข้าสอบสวนและวินิจฉัยต่อไป จนนำมาซึ่งการประเมินและชั่งน้ำหนักว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับวัคซีนหรือไม่ เมื่อได้ลงความเห็นแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญต่อไป

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยขณะนี้แผนดำเนินการฉีดวัคซีนยังดำเนินการไปตามปกติ เพราะผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น ยังไม่ใช่ผลข้างเคียงที่อยู่นอกขอบข่ายที่คาดไม่ถึง

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ทั้ง 6 คนมีอาการทางระบบประสาทมากน้อยแตกต่างกัน โดยทั้งหมดเป็นอาการชั่วคราว หายภายใน 1-3 วัน และบางรายอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก สิ่งที่เกิดขึ้นยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เพราะจากการสืบสวนโรค ทั้ง MRI สแกนก็พบว่าปกติ จึงบอกได้แค่ว่า กลุ่มอาการคล้ายสโตรก และเกิดชั่วคราว โดยส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงที่อายุไม่มาก และไม่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคสโตรกมาก่อน ส่วนใหญ่อาการจะปนกัน ทั้งง่วง ชา อ่อนแรง และอาจไม่ชัดเจนในบางคน

สิ่งที่คณะกรรมการทำอันดับแรก คือ การตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนในล็อตดังกล่าวก็ไม่พบความผิดปกติ ซึ่งวัคซีนล็อตนี้ไม่ได้ใช้แค่จังหวัดเดียว แต่ใช้ทั่วประเทศ แจกไปแล้วประมาณ 500,000 โดส มีผู้รับไปแล้วกว่า 300,000 คน ยังไม่เจอปัญหาเหมือนกันในที่อื่น แต่เราก็ต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม อาการของทุกคนเป็นชั่วคราว และกลับมาเป็นปกติ

คณะกรรมการฯ ลงความเห็นว่าสามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ เนื่องจากประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่า อาการข้างเคียงที่เป็นชั่วคราว

ส่วนอัตราการเกิดก็ไม่ชัดเจน เพราะฉีดไปหลายแสนโดสแล้วแต่เจอกลุ่มนี้ยังไม่เจอกลุ่มอื่น และจากการใช้วัคซีนนี้ในประเทศอื่นก็ยังไม่มีรายงานลักษณะนี้มาก่อน

ขณะที่ พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คนไข้ 6 คน มีอาการคล้ายกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดสมอง บางคนแขนขาอ่อนแรง และชา บางรายชาครึ่งซีก บางรายอ่อนแรงร่วมด้วย โดยมีการทันที หรือบางรายมีอาการหลังฉีดวัคซีนไม่นาน

แพทย์ จ.ระยอง ตรวจวินิจฉัยพบว่ามีการอ่อนแรงจริง อาการชา พูดไม่ชัด และปากเบี้ยวในบางราย ขณะที่การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่พบความผิดปกติของสมอง โดยให้การรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดในเคสที่สงสัยโรคหลอดเลือดสมอง ทั้ง 6 คน อาการดีขึ้นและกลับมาเป็นปกติหลังได้รับการรักษา ซึ่งเคสที่ใช้เวลานานสุด ประมาณ 3 วัน

การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ด้วยการเอ็กซเรย์และทำ MRI เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของเนื้อสมองและหลอดเลือด ยังไม่พบความผิด เบื้องต้นเชื่อว่าทั้ง 6 คน มีอาการคล้ายกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง อาจสัมพันธ์เกี่ยวกับฉีดวัคซีน ซึ่งมีรายงานว่า การฉีดวัคซีนอาจจะมีอาการทางกลุ่มประสาทเกี่ยวข้องได้ แต่พบไม่บ่อย และอาการดังกล่าวมักจะเป็นเพียงชั่วคราวและกลับมาเป็นปกติ ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก นอกจากนี้ อาการทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย คือ อาการอ่อนเพลีย หรือง่วงนอน แต่เป็นเพียงชั่วคราวเช่นเดียวกัน โดยยังคงติดตามอาการตลอดเวลา

เบื้องต้นคิดว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่สาเหตุลึกลงไปต้องมีการศึกษาและวินิจฉัยสืบค้นเพิ่มเติม

ด้าน นพ.เมธา อภิวัฒนากุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองเลชาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังฉีดวัคซีนแล้ว หากผู้รับวัคซีนมีอาการเข้าได้กับอาการทางระบบประสาท หรืออาการที่เข้าได้กับกลุ่มหลอดเลือดสมอง ขอให้ประชาชนรีบไปโรงพยาบาล

สำหรับแพทย์ที่ทำการรักษาหากตรวจพบอาการเข้าได้กับกลุ่มหลอดเลือดสมอง ก็ขอให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาของกลุ่มหลอดเลือดสมอง โดยหากมีข้อบ่งชี้ให้ใช้ยาละลายลิ่มเลือด ก็ขอให้ใช้ยาละลายลิ่มเลือดไป ถ้าไม่มีข้อห้าม

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญ คือ ขอให้แพทย์ผู้รักษารายงานเหตุการณ์เหล่านี้เข้ามาที่กองระบาด กระทรวงสาธารณสุขเมื่อพบการเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ทุกลักษณะ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำการศึกษาและทำการสืบสวน สอบสวนโรคต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบ 6 คน เกิดอาการอัมพฤกษ์ หลังฉีดวัคซีน "Sinovac"

ไทยติดโควิดเพิ่ม 1,458 คน เสียชีวิตอีก 2 คน ปอดอับเสบรุนแรง 

ผู้ป่วยโควิดรอเตียง ลามติดทั้งบ้านรวม 6 คน เข้ารักษาใน รพ.แล้ว

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง