รัฐไฟเขียวเอกชนซื้อวัคซีน ใครได้ประโยชน์?

สังคม
22 เม.ย. 64
11:10
2,673
Logo Thai PBS
รัฐไฟเขียวเอกชนซื้อวัคซีน ใครได้ประโยชน์?

วัคซีนโควิด-19 ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ทั่วโลกต้องการมากที่สุดในขณะนี้ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้รัฐบาลของหลายประเทศมีวัคซีนไม่เพียงพอ จนทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้ภาคเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนเองได้ วิธีการนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ แล้วใครบ้างจะได้ประโยชน์

หากมองไปที่เป้าหมายสูงสุด ทุกคนคิดเหมือนกัน คือ ต้องการให้ชีวิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กลับไปทำงาน ทำธุรกิจได้เหมือนเดิม แต่การจะไปถึงเป้าหมายไม่ใช่เรื่องง่าย

ดังนั้นรัฐบาลของหลายประเทศจึงอนุญาตให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นและภาคเอกชนสั่งซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตได้โดยตรงได้ โดยหวังว่าจะช่วยเร่งการฉีดวัคซีนให้เร็วมากขึ้น

 

โคลอมเบีย อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และบราซิล เป็นประเทศที่เปิดไฟเขียวให้ภาคเอกชน แต่มีกฎเกณฑ์แตกต่างกัน อย่างโคลอมเบียและอินโดนีเซียมีกติกาว่าภาคเอกชนที่จะสั่งซื้อวัคซีนได้จะต้องเป็นการสั่งซื้อในนามของบริษัทเพื่อฉีดให้พนักงาน และจะต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านการรับรองจากรัฐบาลเท่านั้น

ภาคเอกชนที่ต้องการวัคซีนโดยเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นภาคการผลิตที่ต้องการเปิดสายการผลิตอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง แต่ก็มีหลายประเทศที่รัฐบาลไม่ได้ตั้งเงื่อนไขอะไรมากมาย เอกชนรายใด ติดต่อซื้อวัคซีนได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น แต่กรณีของรัฐบาลอินเดียที่เพิ่งแก้ไขกฎหมายเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ตั้งหลักเกณฑ์การสั่งซื้อวัคซีนของรัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชน เพื่อให้การฉีดวัคซีนกระจายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม



หลักเกณฑ์สำคัญ คือ บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะต้องแบ่งวัคซีนครึ่งหนึ่งที่ขายตรงให้กับรัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชนมาให้รัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นตัวหลักในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ วิธีนี้เท่ากับว่าภาคเอกชนช่วยจัดหาวัคซีนมาเพิ่มให้รัฐบาลกลางด้วย ข้อต่อมา คือ บริษัทผู้ผลิตจะต้องชี้แจงราคาที่ขายให้กับผู้ซื้อทุกกลุ่มอย่างโปร่งใส รวมถึงต้องแจ้งจำนวนวัคซีนที่ขาย

 

นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชนจะต้องให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นอันดับแรก และการฉีดวัคซีนทั้งหมดนี้จะต้องถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฉีดวัคซีนแห่งชาติของรัฐบาลอินเดีย 

เมื่อดูหลักเกณฑ์โดยรวมแล้วถือว่าค่อนข้างครอบคลุมและน่าจะตอบโจทย์ของรัฐบาลอินเดียได้เป็นอย่างดี เพราะตอนนี้อินเดียกับกำลังเผชิญปัญหารุมเร้ารอบด้าน ทั้งปัญหาระบบสาธารณสุขที่เข้าขั้นวิกฤต วัคซีนก็ขาดแคลน ทั้งที่อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก

 

แม้ว่ารัฐบาลจะยอมไฟเขียวให้เอกชนซื้อวัคซีนได้เองแล้ว แต่คำถามที่ก็คือ วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือและใครที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้

วิธีนี้ทำให้กลุ่มที่มีความต้องการและมีกำลังซื้อเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอวัคซีนของรัฐบาลที่ไม่รู้ว่าตกมาถึงเมื่อไหร่ เพราะส่วนใหญ่รัฐบาลจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงก่อน ดังนั้นกว่าจะมาถึงคนในวัยทำงานก็อาจจะช้าเกินไป ดังนั้นข้อดี คือ ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจต่าง ๆ จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

แต่ข้อเสียของวิธีนี้ก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่อาจจะไปซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนวัคซีนให้รุนแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะตอนนี้ออร์เดอร์ที่มีอยู่ ผู้ผลิตก็ส่งไม่ทันอยู่แล้วหากเอกชนรายใดใจป้ำยอมจ่ายค่าวัคซีนแพงกว่า รัฐบาลก็อาจให้ผู้ผลิตเปลี่ยนใจหันไปส่งวัคซีนให้เอกชนแทนเพราะได้เงินมากกว่า

รวมถึงปัญหาการกระจายวัคซีนอย่างไม่เหมาะสมและไม่เท่าเทียม เพราะจะทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างเช่นผู้สูงอายุหรือคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพหรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ ได้รับวัคซีนช้ายิ่งกว่าเดิม

ในขณะที่มีคนฐานะหรือคนหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรง อยู่ในวัยทำงานได้รับวัคซีนก่อนคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากภาคเอกชนมองว่าคนในวัยทำงานคือกลุ่มคนที่มีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั่นเอง

ประเด็นนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหลายคนร่วมกันเสนอทางออกว่า รัฐบาลควรจะใช้วิธีรวบรวมรายชื่อภาคเอกชนที่ต้องการซื้อวัคซีนและสั่งซื้อร่วมกัน เพื่อป้องกันการแข่งขันด้านราคาและกำหนดหลักเกณฑ์การฉีดวัคซีนให้ภาคเอกชนด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายไปพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คาดมีสิ่งปนเปื้อนขณะบรรจุขวด เหตุ "สโตรก" หลังฉีดซิโนแวค

นายกฯ ลงพื้นที่ รพ.สนาม โทร 1669 ไม่มีคนรับ สั่ง สธ.เร่งแก้ปัญหา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง