ศบค.เผยไทยพบผู้เชื้อ 1,470 คน เสียชีวิต 7 คน

สังคม
22 เม.ย. 64
12:34
529
Logo Thai PBS
ศบค.เผยไทยพบผู้เชื้อ 1,470 คน เสียชีวิต 7 คน
ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID - 19 ไทยพบผู้เชื้อรายใหม่ 1,470 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด ยอดผู้ป่วยสะสม 48,113 คน เสียชีวิตเพิ่ม 7 คน ยอดสะสม 117 คน

วันนี้ (22 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์ ไวรัส COVID - 19 ไทยพบผู้เชื้อรายใหม่ 1,470 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด ยอดผู้ป่วยสะสม 48,113 คน เสียชีวิตเพิ่ม 7 คน ยอดสะสม 117 คน ในการระบาดระลอกเดือน เม.ย.64 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 19,250 คน เสียชีวิตสะสม 23 คน ขณะเดียวกันมีผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 746,617 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 2 จำนวน 118,223 คน

 

เสียชีวิต 7 คน 

ผู้เสียชีวิตวันนี้ 7 คน โดยรายที่ 111 เป็นหญิงไทย อายุ 24 ปี อาชีพค้าขาย อยู่ที่ จ.พัทลุง มีโรคประจำตัวโรคอ้วน มีประวัติเดินทางไปสถานบันเทิงที่มีผู้ติดเชื้อวันที่ 7 เม.ย. ในวันที่ 16 เม.ยฐ.ตรวจหาเชื้อ COVID - 19 ผลพบเชื้อและปอดอักเสบ วันที่ 19 เม.ย.ออกซิเจนในเลือดต่ำลง มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 112 หญิงไทย อายุ 68 ปี อาชีพดูแลเด็ก อยู่ที่ จ.สระบุรี มีโรคประจำตัวภูมิแพ้ วันที่ 5 เม.ย.มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย COVID - 19 วันที่ 12 เม.ย.มีอาการไข้ ไอ วันที่ 19 เม.ย.เข้ารักษาใน รพ. ใส่ท่อช่วยหายใจ ระบบหายใจล้มเหลว ผลพบเชื้อ และเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 113 ชายไทย อายุ 83 ปี อยู่ที่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วันที่ 17 มี.ค.มีไข้ ไอ น้ำมูก วันที่ 22 มี.ค.ไปรักษาที่คลินิกเอกชน วันที่ 23 มี.ค.รับการตรวจคัดกรองเชิงรุก ผลพบเชื้อ จากนั้นเข้ารับการรักษาใน รพ. วันที่ 31 มี.ค.ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาอาการทรุดลง และเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 114 เป็นหญิงไทยอายุ 80 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง อยู่ที่ จ.นครปฐม มีโรคประจำตัวเบาหวาน โดยวันที่ 13-15 เม.ย. ญาติจาก กทม.เดินทางมาเยี่ยม ต่อมาวันที่ 16 เม.ย. มีอาการอาเจียนเป็นเลือด นำส่ง รพ.พบติดเชื้อ COVID - 19 อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิต 17 เม.ย.

 


ผู้เสียชีวิตรายที่ 115 เป็นชายไทย อายุ 45 ปี อาชีพพนักงานขับรถอยู่ที่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เมื่อวันที่ 9 เม.ย. มีไข้ ไอ เหนื่อย พบประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ต่อมาวันที่ 17 เม.ย. ไข้สูง 40.2 องศาเซลเซียส ไอ มีเสมหะ หนาวสั่น มาตรวจที่ รพ.และรับยากลับบ้าน ในวันที่ 19 เม.ย.เข้ารับการรักษาที่ รพ. อาการหอบเหนื่อย ค่าออกซิเจนในเลือด 68-70% ผลพบเชื้อ COVID - 19 และปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 116 เป็นชายไทย อายุ 59 ปี อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ กทม.มีโรคประจำตัวเบาหวาน พบประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า โดยวันที่ 14 เม.ย. มีอาการไอ วันที่ 20 เม.ย. เข้ารักษาที่ รพ.ด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ใส่ท่อช่วยหายใจ ผลพบติดเชื้อ COVID - 19 และเสียชีวิตในวันเดียวกัน

ผู้เสียชีวิตรายที่ 117 เป็นชายไทย อายุ 86 ปี อาชีพรับจ้าง อยู่ที่ กทม. มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ พบประวัติสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ต่อมาวันที่ 16 เม.ย.ผลตรวจพบติด COVID - 19 มีอาการไอแห้ง อ่อนเพลีย ต่อมาวันที่ 18 เม.ย.เข้ารักษาที่ รพ. วันที่ 20 เม.ย.มีอาการหอบเหนื่อย ไข้สูง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ ต่อมาอาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 21 เม.ย.

 

การตรวจเชิงรุกในชุมชน พบผู้ติดเชื้อลดลง แต่มีผู้ที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาใน รพ.เพิ่มมากขึ้น แนวโน้มสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ ขอประชาชนไม่ประมาท การ์ดอย่าตก เพราะขณะนี้พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คนติดต่อกันหลายวัน

การแพร่ระบาดในพื้นที่ กทม.ยังพบมากที่สุด วันนี้ (22 เม.ย.) พบเพิ่ม 446 คน รวมสะสม ระลอกใหม่ 4,475 คน จ.เชียงใหม่ พบเพิ่ม 99 คน สะสม 2,597 คน จ.ชลบุรี 97 คน สะสม 1,540 คน และ จ.นนทบุรี 118 คน สะสม 911 คน 

เทียบอัตราเสียชีวิต 3 ระลอก

การประชุมของ ศบค.ชุดเล็ก มีการนำข้อมูลจากกรมควบคุมโรคมาวิเคราะห์อัตราการเสียชีวิต เปรียบเทียบ 3 ระลอก โดยระลอกแรกเสียชีวิต 67 คน ระลอกสอง 27 คน ระลอก 3 เฉพาะเดือน เม.ย. 16 คน โดยมี 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ 1.สถานบันเทิง บ่อน สนามมวย 2.ทำงานในแหล่งชุมชน ตลาด และ 3.ติดเชื้อจากคนในครอบครัว และผู้มีโรคประจำตัวยังมีความเสี่ยง ส่วนเรื่องกลุ่มก้อนคลัสเตอร์ 5 วันที่ผ่านมา คลัสเตอร์นครราชสีมา มี 5 กลุ่มก้อน ติดเชื้อแล้ว 71 คน พระนครศรีอยุธยา 1 กลุ่มก้อน ติดเชื้อ 5 คน อ่างทอง 1 กลุ่มก้อน ติดเชื้อ 3 คน

 

คลัสเตอร์นครราชสีมา กลุ่มก้อนใหญ่คือ การรวมตัวกินเลี้ยงวันเกิดที่ปากช่อง พบติดเชื้อ 47 คน โดยผู้ป่วยรายแรกมีกลุ่มเพื่อนไปเที่ยวเยาวราช และนำมาติดกลุ่มก้อนนี้ ทำให้เกิดคลัสเตอร์ตามมาอีก 7 คลัสเตอร์

 

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีน (อัมพฤกษ์) ว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้พูดคุยประเด็นดังกล่าวซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ สรุปคือ เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับล็อตวัคซีน ยังสามารถใช้ต่อไปได้ เพราะประโยชน์ของวัคซันมีมากกว่าข้อมูลที่เกิดขึ้น

มีชุดข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับปรากฏการณ์เรื่องการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ อาจมีอาการคล้ายสโตรก หรือหลอดเลือดสมอง เกิดขึ้นได้ แต่ครั้งนี้ยังไม่ได้สรุปว่าเป็นลักษณะดังกล่าวหรือไม่ และยังเดินหน้าฉีดวัคซีนด้วยความสมัครใจ

 

กรมอนามัยให้ข้อมูลติดตั้งระบบ Thai Stop COVID ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เพื่อนำชุดข้อมูลดังกล่าวให้สถานประกอบการประเมินตนเอง หากร่วมมือกันอย่างจริงจังก็จะสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ COVID - 19

นพ.ทวีศิลป์ ตอบคำถามกรณีการอยู่รวมกันของผู้ติดเชื้อใน รพ.สนาม จะทำให้ผู้ที่มีอาการน้อยรับเชื้อเพิ่มหรือไม่ หรือจะเกิดการกลายพันธุ์หรือไม่ ว่า ระบบของการนำคนไปอยู่รวมกัน ไม่ได้ให้คนคลุกคลีกัน ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย

การอยู่รวมกันภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นมาตรการที่สูงกว่าการอยู่ที่บ้านหรืออยู่ในชุมชน ซึ่งการออกแบบระบบนี้ทำให้มั่นใจในระดับหนึ่งว่าจะสามารถจัดการได้ แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยด้วย โดยยืนยันว่าหากผู้ป่วยมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เรื่องที่กังวลก็แทบจะไม่เกิด หรือมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง