บทเรียน "กู้ภัยเรือดำน้ำ" อินโดนีเซีย ชาติอาเซียนพร้อมแค่ไหน ?

ต่างประเทศ
22 เม.ย. 64
19:55
5,435
Logo Thai PBS
บทเรียน "กู้ภัยเรือดำน้ำ" อินโดนีเซีย ชาติอาเซียนพร้อมแค่ไหน ?
การช่วยชีวิตคนออกจากเรือดำน้ำที่ประสบเหตุเป็นเรื่องซับซ้อนอย่างมาก และขีดความสามารถในการกู้ภัยเรือดำน้ำของแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน เพราะต้องใช้งบประมาณสูง นับเป็นเรื่องที่ไทยและประเทศในอาเซียนต้องเตรียมการให้พร้อมกับแผนกู้ภัยในอนาคต

จากกรณีเรือดำน้ำ KRI Nanggala-402 พร้อมลูกเรือ 53 นายของกองทัพเรืออินโดนีเซียขาดการติดต่อ ในระหว่างการซ้อมยิงตอร์ปิโด กลายเป็นภารกิจกู้ภัยเรือดำน้ำที่ซับซ้อนอย่างมาก โดยมีการคาดว่าเรือดำน้ำลำดังกล่าวอาจจมไปอยู่ที่ความลึกกว่า 700 เมตร ยิ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ภารกิจนี้ต้องการอุปกรณ์กู้ภัยที่มีศักยภาพมาก


หากย้อนไปยังจุดที่เรือดำน้ำลำนี้ขาดการติดต่อไป ตั้งแต่เวลา 04.30 น. เมื่อวานนี้ ตามเวลาท้องถิ่น อยู่ห่างจากเกาะบาหลีขึ้นไปทางเหนือราว ๆ 100 กิโลเมตร ตามข่าวคาดว่า ออกซิเจนจะมีเพียงพอไปจนถึงเช้ามืดของวันเสาร์นี้ ซึ่งเท่ากับว่าจะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 48 ชั่วโมง

ย้อนรอยโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำ

หากช่วยเหลือไม่ทันเวลา เหตุการณ์ครั้งนี้อาจซ้ำรอยโศกนาฏกรรม ที่เคยเกิดขึ้นกับเรือดำน้ำหลายต่อหลายครั้งในอดีต หนึ่งในนั้นหนีไม่พ้นเหตุที่เกิดขึ้นกับเรือดำน้ำคูร์สก์ของรัสเซีย ที่เกิดระเบิดขึ้นและจมลงสู่ก้นทะเลแบเรนต์สเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2543

หลังจากเกิดไฟไหม้บนเรือและเกิดระเบิดใต้น้ำ พร้อมลูกเรือ 118 นาย ซึ่งลูกเรือมากกว่า 20 นาย มีชีวิตรอดอยู่นานหลายวัน ก่อนที่จะเสียชีวิตลงในที่สุด เนื่องจากภารกิจกู้ภัยดำเนินไปอย่างล่าช้า

ระบบการกู้ภัยเรือดำน้ำที่จมลึกลงไปเกินกว่าระดับที่ลูกเรือจะสามารถว่ายน้ำขึ้นมายังผิวน้ำเองได้ เนื่องจากด้านบนคือเรือกู้ภัยเรือดำน้ำ ซึ่งมีห้องปรับแรงดันเอาไว้สำหรับรองรับลูกเรือที่ช่วยขึ้นมา

ขณะที่ยานกู้ภัยเรือดำน้ำที่มีหลายชนิด ทนแรงดันน้ำได้ในความลึกหลายระดับ แตกต่างกันไปตามศักยภาพของแต่ละประเทศ จะถูกส่งลงไปทยอยรับลูกเรือขึ้นมายังผิวน้ำ

เหตุการณ์หนึ่งที่มีความพยายามนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปใช้งาน คือ การกู้ภัยเรือดำน้ำซาน ฮวน ของกองทัพเรืออาร์เจนตินา ที่ขาดการติดต่อไป เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2560 พร้อมลูกเรือ 44 คน แต่น่าเสียดายที่หาเรือดำน้ำไม่พบ กระทั่งผ่านไป 1 ปีเต็ม

ขุมกำลังอาเซียนรับมือกู้ภัยเรือดำน้ำ

อย่างไรก็ตาม นอกจากอินโดนีเซียที่มีฝูงเรือดำน้ำประจำการแล้ว ชาติอื่น ๆ ในอาเซียนก็มีเรือดำน้ำและมีแผนจะจัดซื้อเรือดำน้ำอยู่หลายประเทศเช่นกัน

ในจำนวนนี้มีแค่สิงคโปร์ มาเลเซียและเวียดนามเท่านั้น ที่มีเรือกู้ภัยเรือดำน้ำพร้อมสำหรับรับมือเหตุไม่คาดฝันเหล่านี้ โดยเฉพาะเวียดนามที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย สามารถต่อเรือกู้ภัยเรือดำน้ำได้เองภายในประเทศ

ไทยวางแผนกู้ภัยเรือดำน้ำก่อนเป็นเจ้าของ

ส่วนอินโดนีเซียซึ่งมีเรือดำน้ำมากเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค กลับไม่มีเรือกู้ภัยเรือดำน้ำ ดังนั้น สิ่งที่ไทยซึ่งกำลังจะมีเรือดำน้ำเป็นของตัวเองในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จะต้องย้อนมาคิด ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการเตรียมการรับมือกับเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้

กรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทหาร ระบุว่า ไทยเตรียมความพร้อมในด้านนี้เอาไว้แล้ว โดยจะใช้เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก เป็นทั้งเรือพี่เลี้ยงและเรือกู้ภัยเรือดำน้ำ โดยบนเรือเอนกประสงค์จะมีอุปกรณ์สำคัญ คือ ถังปรับความดันบรรยากาศซึ่งกองทัพเรือของเรามีอยู่แล้ว มีปั้นจั่นสำหรับยกเรือ และยานกู้ภัยน้ำลึกสำหรับช่วยเหลือลูกเรือในเรือดำน้ำ

ทั้งนี้ ภารกิจดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องขบคิดกันต่อว่า ถึงวันที่มีเรือดำน้ำขึ้นมาจริง ๆ แล้ว จะทำแผนการกู้ภัยออกมาอย่างไรให้รอบคอบ รัดกุม เพราะขนาดอินโดนีเซียที่มีเรือดำน้ำมาก่อนไทยนานหลายสิบปี ยังเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาได้

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อินโดนีเซียเร่งค้นหาเรือดำน้ำพร้อม 53 ลูกเรือ ขาดการติดต่อนอกชายฝั่งบาหลี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง