ศบค.เตรียมแนวทาง "ใช้วอร์ดร่วม-แบ่งเตียง-ไอซียูสนาม" หลังยอดผู้ป่วยพุ่ง

สังคม
23 เม.ย. 64
11:57
497
Logo Thai PBS
ศบค.เตรียมแนวทาง "ใช้วอร์ดร่วม-แบ่งเตียง-ไอซียูสนาม" หลังยอดผู้ป่วยพุ่ง
ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,070 คน เป็นสถิติติดเชื้อรายวันสูงสุด ยอดติดเชื้อสะสม 50,183 คน เสียชีวิตเพิ่ม 4 คน เสียชีวิตสะสม 121 คน หายป่วยแล้ว 30,189 คน

วันนี้ (23 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,070 คน เป็นสถิติติดเชื้อรายวันสูงสุด ยอดติดเชื้อสะสม 50,183 คน เสียชีวิตเพิ่ม 4 คน เสียชีวิตสะสม 121 คน หายป่วยแล้ว 30,189 คน รักษาตัวอยู่ 19,873 คน แบ่งเป็นอยู่ใน รพ. 15,642 คน รพ.สนาม และอื่น ๆ 4,231 คน 

เสียชีวิต 4 คน 

ผู้เสียชีวิตรายที่ 118 เป็นชายอายุ 72 ปี อยู่ที่ กทม.พบประวัติเมื่อวันที่ 9-12 เม.ย. ไป จ.ภูเก็ต วันที่ 13 เม.ย. มีไข้ ไอ เจ็บคอ และถ่ายเหลว วันที่ 17 เม.ย. อาการไม่ดีขึ้น ไปรักษาที่ รพ. พบปอดอักเสบ ต่อมาวันที่ 18 เม.ย. พบติดเชื้อ COVID-19 เหนื่อยหอบ แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 119 เป็นชายไทย อายุ 74 ปี อยู่ที่ จ.สงขลา มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ พบประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. พบติดเชื้อ COVID-19 ในวันที่ 11 เม.ย.เข้ารักษาที่ รพ. และวันที่ 15 เม.ย. พบปอดอักเสบมากขึ้น วันที่ 22 เม.ย. หัวใจหยุดเต้น ทำการกู้ชีพ และเสียชีวิตในวันเดียวกัน

ผู้เสียชีวิตรายที่ 120 เป็นหญิงไทย อายุ 29 ปี อยู่ที่ จ.สมุทรปราการ มีโรคประจำตัวโรคอ้วน พบประวัติวันที่ 10 เม.ย.สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ วันที่ 12 เม.ย.มีอาการไอ มีเสมหะ หอบเหนื่อย วันที่ 16 เม.ย. พบติดเชื้อ และวันที่ 18 เม.ย. เข้ารักษาที่ รพ. ต่อมามีภาวะหัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง และเสียชีวิตในวันที่ 22 เม.ย.

 

ผู้เสียชีวิตรายที่ 121 เป็นชายไทย อายุ 83 ปี อยู่ที่ จ.สมุทรปราการ มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรัง และโรคหัวใจ พบประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ วันที่ 8 เม.ย.เข้ารับการตรวจหาเชื้อ มีอาการไอ มีเสมหะ วันที่ 9 เม.ย. ผลตรวจพบเชื้อ เข้ารักษาที่ รพ. วันที่ 10 เม.ย.อาการไม่ดีขึ้น พบปอดอักเสบรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันที่ 22 เม.ย.

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่ม 2,070 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.จำนวน 740 คน รองลงมา จ.เชียงใหม่ จำนวน 237 คน จ.ชลบุรี จำนวน 125 คน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 44 คน จ.นนทบุรี จำนวน 29 คน

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.รับทราบความเสี่ยงของสถานดูแลผู้สูงอายุ พบผู้ช่วยพยาบาลติดเชื้อจากสามี ซึ่งเป็น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชน จากนั้นพบผู้ป่วยสูงอายุติดเชื้อ เป็นหญิง 88 ปี และชาย 84 ปี

รวมถึง ที่ประชุม ศบค. ได้วิดีโอคอลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังพบคลัสเตอร์สถานปฏิบัติธรรม จ.เชียงใหม่ พร้อมหารือเกี่ยวกับการประกอบพิธีทางศาสนาอื่น ๆ โดยประสานกระทรวงวัฒนธรรมดูแลมาตรการป้องกันการติดเชื้อ

 

เตรียมแนวทางรับมือ หลังยอดผุ้ป่วยพุ่ง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้เตียงไอซียูของกรุงเทพฯ มีจำนวน 262 เตียง และพยายามเติมเตียง และเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้เตียงไอซียูว่างอยู่จำนวน 69 เตียง และห้องแยกความดันลบจำนวน 479 เตียง ว่างอยู่จำนวน 69 เตียง ซึ่งที่ประชุม ศบค.ห่วงใยว่าเรื่องจำนวนเตียงรองรับอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยพยากรณ์การติดเชื้อวันละ 1,500 คน ใช้เตียงทั้งประเทศวันละ 52 เตียง ซึ่ง กทม.อยู่ที่วันละ 10 -13 เตียงใช้ได้อีกเต็มที่ 6-8 วันข้างหน้า ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องรับไปบริหารจัดการ ส่วนเตียงทั้งประเทศขณะนี้คงเหลือ 1,000 เตียง ใช้วันละ 52 เตียง ใช้ได้อีก 19 วัน โดยกระทรวงสาธารณสุขพยายามบูรณาการเตียง และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้ทำงานอย่างหนักมาก

นพ.ทวีศิลป์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มทะลุ 2,000 คน จะกระทบระบบสาธารณสุขมากน้อยเพียงใดนั้น ยืนยันว่ากระทบแน่นอนและยังไม่ทราบว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร โดยมีเตียงไอซียู ระยะ 1 สัปดาห์ ถือว่าไม่เพียงพอและต้องหาเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเพิ่มจำนวนเตียงในสถานที่เดิม หรือเรียกว่าเบ่งเตียง, เพิ่มวอร์ดไอซียูเฉพาะผู้ป่วย COVID-19 และไอซียูสนาม ที่อยู่ระหว่างหารือ

ทั้งนี้ รพ.ราชวิถี จะเริ่มขยายเตียงเพิ่มขึ้นก่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษา 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศบค.ขออภัยประชาชนที่ต้องรอสายเพื่อขอเข้ารักษาตัว โดยแจ้งผ่านโทร. 1668 1669 และ 1330 โดยมีการหารือประเด็นนี้ตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แจ้งว่าได้รับอนุญาตจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บูรณาการสายด่วน และนำไปสู่การแก้ปัญหา 

ขอให้ผู้ติดเชื้อฝากเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลสำคัญ และข้อมูลการตรวจ ผ่านสายด่วน 1668, 1669 และ 1330 ซึ่งขณะนี้ได้จัดชุดคู่สายอีก 1 ทีม เพิ่มอีก 50 เบอร์ เพื่อติดต่อผู้ป่วยกลับไป แบ่งอาการตามสีแดง เหลือง เขียว ข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยรอเตียง 1,423 คน และในรอบ 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยรอเตียงเพิ่มอีก 264 คน เมื่อวาน (22 เม.ย.2564) รับรักษาแล้ว 474 คน 

ทั้งนี้ เลขาฯ สมช.ขอทราบจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ ที่เรียกว่า "สีเขียว" ส่วนปัญหาเตียงไม่พออยู่ในกลุ่มสีเหลืองและสีแดง โดยผู้ป่วยจำนวน 1,423 คน ที่อยู่ในระบบจะได้รับการติดต่อกลับไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง