หลังไม่ล็อกดาวน์! COVID-19 ไทยวิกฤตเตียงรับได้อีก 19 วัน

สังคม
23 เม.ย. 64
14:20
2,104
Logo Thai PBS
หลังไม่ล็อกดาวน์! COVID-19 ไทยวิกฤตเตียงรับได้อีก 19 วัน
ศบค.ประเมินCOVID-19 รายวันป่วยพุ่งเฉลี่ย 1,500 คน ส่งผลขาดเตียงในโรงพยาบาล คำนวณใช้วันละ 52 เตียงคาดกทม.รองรับได้อีก 6-8 วัน จาก 269 เตียง ส่วนทั่วประเทศอีก 1,000 เตียงคาดรองรับแค่ 19 วัน ด้านหมอสถาบันการแพทย์ ชี้ผลไม่ล็อกดาวน์ป่วยฉุดไม่อยู่

วันนี้ (23 เม.ย.2564) สถานการณ์โรค COVID-19 ในไทยยังคงน่าเป็นห่วง ยอดติดเชื้อสะสมทุบสถิติ 2,070 คน รวมตัวเลขผู้ติดเชื้อระลอกเดือนเม.ย.นี้เพียง 23 วันจำนวน รวม 21,320 คน แต่หากสะสมทั้งหมด 3 ระลอกตัวเลข 50,183 คน ซึ่ง ศบค.ประเมินจำนวนเตียงรองรับอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยพยากรณ์การติดเชื้อวันละ 1,500 คน ต้องใช้เตียงทั้งประเทศวันละ 52 เตียง แบ่งเป็น กทม.อยู่ที่วันละ 10 -13 เตียงใช้ได้อีกเต็มที่ 6-8 วันข้างหน้า

จากข้อมูลเตียง ICU ของกทม.มี 262 เตียง ใช้ไป 193 เตียง เหลือเพียง 69 เตียง ส่วนห้องแยกความดันลบ 479 เตียง ใช้ไป 410 เตียง เหลือเพียง 69 เตียง

ส่วนเตียงทั่วประเทศคงเหลือ 1,000 เตียง ใช้วันละ 52 เตียง รองรับได้อีก 19 วัน ขณะที่มีผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล 19,873 คน

 

เปิดไอซียูสนามรองรับ 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ชี้ว่า ถ้ามีเตียงไอซียูใน 1 สัปดาห์ถือว่าไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกทม.เหลือเวลาที่สั้นมาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พูดคุยกับทุกภาคส่วนใน 3 แนวทาง คือ แบ่งเตียง เพิ่มจำนวนในสถานที่เดิม คนไข้กลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม การดูดอากาศปรับอากาศที่เหมาะสม

นอกจากนี้อาจจะต้องเกิดลักษณะโคฮอท-ไอซียู ใช้พื้นที่ไอซียูที่กว้างขึ้น วอร์ดอื่นที่ปรับขึ้นมา เอาคนไข้กลุ่มเดียวกันเข้าไปอยู่ด้วยกัน เพื่อขยายเตียงเต็มที่ และอาจต้องมีไอซียูสนาม มีการพูดคุยกันอยู่ มีความยุ่งยาก ต้องปรับพื้นที่โดยโรงพยาบาลราชวิถีเป็น  หลักของสธ. จะต้องขยายเตียงขึ้นมาก่อนรองรับตรงนี้

ทุกข้อมูลทุกนาทีเราพยายามทำอย่างเต็มที่ ป่วยหนักเข้ามารับการรักษาจะดูแลเต็มที่

หลังไม่ล็อกดาวน์คนป่วยพุ่ง

ก่อนหน้านี้ นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อาจารย์แพทย์สาขาอายุรกรรมโรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก Suppachok NeungPeu Kirdlarp ว่า อัพเดตสถานการณ์สัปดาห์ที่ 2 เข้า 3 จากนโยบายที่รัฐบาลเลือกที่จะไม่ ล็อกดาวน์ และยังให้เปิดการไปมาระหว่างจังหวัด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะไม่สามารถจะทำการ ล็อกดาวน์ได้อีกด้วยเหตุผล ทั้งเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งถ้าทำล็อกดาวน์ อีกเศรษฐกิจก็จะยิ่งไปใหญ่ แต่ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะถูกมองกันว่าอย่างไร แต่สิ่งที่เราพบต่อมาหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ พบว่า

  • ผู้ป่วยที่รับใหม่เริ่มเป็นวง 2 หมดแล้ว เป็นผู้สูงอายุ พ่อ แม่ ปู่ ยา ตายาย มี โรคประจำตัวมากๆ แถมบางคนเป็นผู้ป่วยติดเตียง ด้วย
  • การติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็น contact confirm เคส นั่นก็คือลูกๆที่กลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย บายคนบอกว่าลูกหลานกลับมาจากเที่ยว หรือกลับมาช่วงเทศกาลสงกรานต์

แต่ 2-3 วันมานี้คือ tracking ไม่ได้แล้วนะว่าไปติดมาจากไหน ใช้แต่อาการแสดงทาง clinical + lab + CXR ถามไม่ได้ความเสี่ยงอะไรเลย เอาจริงๆ มันก็คือเฟส 3 แล้วแต่รัฐบาลคงเลิกประกาศแล้วและคนคงเลิกสนใจแล้ว

ความพีคคือมีหลายๆ ความยากลำบากเช่น พ่อแม่บวก ลูกลบ แต่ลูกอายุ 3 เดือน ปู่ย่า บวก เป็นผู้ป่วยติดเตียง ลูกเอามาติด นอนไอซียู แต่ลูกอีกคนที่เป็น caregiver negative และนอนติดเตียง

ตายายเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่เป็นลบ ลูกผู้ดูแลเป็นบวกและต้องแอดมิด ไม่มีใครดูแลตายาย และไม่มีใครพาตายาไป swab เนื่องจากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

คนไข้ที่นอนตั้งแต่ช่วงแรก 50-60% เป็น pneumonia ทั้งๆที่ admit ค่อนข้างเร็วแล้ว และ 10-20% อาการหนัก ต้องเข้า intermediate/ICU และบางส่วนต้อง intubation ไปถึงแม้จะพยายามให้ยาฟาวิพิราเวียร์ และยาdexamethasone  

ปรากฎการณ์คอขวด ระบายรับคนใหม่ไม่ทัน

นพ.ศุภโชค ระบุว่า ส่วนคนไข้เก่าขยับไม่ออก คนไข้ใหม่ก็เข้ามาไม่ได้ เกิดปรากฎการคอขวด ในหลายๆที่ และมีคนไข้ที่รออยู่บ้าน ซึ่ง 40-50% จะเกิด pneumonia มีคนไข้บางส่วนที่เริ่มเหนื่อย และได้รับการแอดมิดช้า ทำให้คนไข้อาการหนักมาตั้งแต่แรกรับ และต้องเข้า intermediate ไอซียู มากกว่าเดิม เปิดเพิ่มเท่าไหร่ก็ไม่พอ (เพราะมีแต่เตียงไม่มีคนพอ เราเรียกเตียงทิพย์)

โรงพยาบาลต่างๆเกิดปรากฏการณ์ “ป้อมแตก” มีคนไข้บวกใน ward ที่เป็น ward สามัญ หรือมีเข้าหน้าที่ติดเชื้อมาจากบ้านโดยไม่ได้ตั้งใจ (อาจจะเพราะไปได้มาจากลูกหลาน, บางส่วนได้มาเพราะยังไปสถานที่ชุมนุมชนเช่น fitness เป็นต้น)

มีเพื่อน คนรู้จัก หรือแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หลายคนที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะติดจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยที่เราไม่ทันทราบ และไม่ได้ตั้งใจ หลายๆคนใช้ชีวิตปลอดภัยมาก แต่พลาดเพราะไม่รู้ว่าคนที่เราอยู่ใกล้ๆ นำพาเชื้อมา เป็นช่วงที่เริ่มได้ notice ว่าให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ด้วยความจำกัดจำเขี่ยมากขึ้นจนทำให้เรากลัวเหลือเกินว่าจะมียาเหลือพอหรือไม่

และมันก็เกิดวงจรที่ไม่ควรเกิด  เตียงไม่พอ admit ไม่ได้ รออยู่บ้าน  อาการหนักเพราะได้รับยาช้า ต้องใช้ยาเยอะกว่าเดิม และใช้ไอซียู กินเตียงนาน เตียงเต็มเตียงไม่พอ 

เสียชีวิตรายวันมากขึ้น-หมอทำงานหนัก 200%

นอกจากนี้นพ.ศุภโชค ระบุด้วยว่า เมื่อทุกแห่งเกินศักยภาพ มีการประสานส่วนกลางเพื่อกระจายเคสหนักเข้าไอซียู ในแต่ละโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ แต่เตียงเต็มจนอยากจะบอกว่ารับไม่ได้ ฝ่ายจัดการเตียงและทรัพยากรก็หมุนกำลังเต็มที่ หมุนจนไม่คิดว่าจะทำได้ขนาดนี้ เจ้าหน้าที่ทำงานหนักแบบ 200% ทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรอื่นๆนอกโรงพยาบาล

บางโรงพยาบาลไม่วาสามารถรับเคสได้อีกเพราะเตียงล้น บางโรงพยาบาลคนหายไปเพราะถูก quarantine หรือติดเชื้อไปบางส่วน รวมทั้งการดูแลผู้ป่วย non covid เริ่มได้รับปัญหาเรื่อยๆเพราะเกิดการ down size ระบบบริการเพื่อไปเทกับ COVID care

สถานการณ์ที่เป็นแบบนี้ ยาที่เริ่มจำกัดจำเขี่ย เราก็ยังได้ยินไทม์ไลน์ ประหลาดๆเช่น บุคคลชั้นสูงของบางกิจการติดเชื้อเป็นร้อยเพราะไปจ้างสาว PR มาจัดงานเลี้ยงในช่วงเวลาแบบนี้  ข่าวผู้เสียชีวิตรายวันเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ช้าๆ

สุดท้ายภาพที่เห็นในอนาคตนี้ช่างยากลำบากเหลือเกิน ขอให้ทุกท่านช่วยกัน และรีบร่วมมือหยุดวงจรเหล่านี้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้น อาจจะมีวันที่เราไม่เหลือเตียงและยารักษา หวังว่าเบื้องบนระดับผู้ใหญ่ระดับประเทศจะเห็นพ้องตรงกันว่า นี่คือวิกฤตของประเทศแล้ว 

อัพเดตสถานการณ์สัปดาห์ที่2 เข้า 3 จากนโยบายที่รัฐบาลเลือกที่จะไม่ lock down และยังให้เปิดการไปมาระหว่างจังหวัด...

โพสต์โดย Suppachok NeungPeu Kirdlarp เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2021

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง