"บุคลากรการแพทย์" ยื่น 5 ข้อ จี้รัฐ-ศบค. เร่งแก้การทำงานวิกฤต COVID-19

สังคม
25 เม.ย. 64
16:22
5,189
Logo Thai PBS
"บุคลากรการแพทย์" ยื่น 5 ข้อ จี้รัฐ-ศบค. เร่งแก้การทำงานวิกฤต COVID-19
บุคลากรแพทย์สุดทน ยื่นข้อเสนอรัฐบาล-ศบค. 5 ข้อ เร่งแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เลิกบังคับรับคนติดเชื้อ ทั้งที่ไม่มีศักยภาพ บุคลากรไม่พอ/ ล็อกดาวน์ให้จริง/ ให้คนติดเชื้อไม่รุนแรงอยู่บ้าน/ เร่งหายารักษา/

สถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นต่อในแต่ละเกินหลัก 1,000 -2,000 บวก ติดมาตลอดสัปดาห์ ส่งผลกระทบต่อการเตรียมรองรับทั้งในโรงพยาบาลหลัก /โรงพยาบาลเฉพาะกิจ และโรงพยาบาลสนาม ที่ไม่เพียงพอ

และทำให้ต้องเร่งขยายศักยภาพเพิ่มเติม บนภาระที่หนักตัวของบุคลากรการแพทย์ และเป็นการเร่งให้เกิดการล่มสลาย ของระบบการดูแลผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยโควิด รวมถึงการควบคุมโรคในระยะยาว และการเตรียมฟื้นฟูประเทศ

ทำให้ขณะนี้ มีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายต่างๆ ในวงวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุขของไทย

อาจารย์หมอโรคระบาด เสนอ 3 ข้อ แก้วิกฤตโควิดเร่งด่วน ดันการแพทย์นำการเมือง

ไม่ใช่แค่บุคลากรที่เคลื่อนไหว แต่ยังมีมุมมองของ อาจารย์แพทย์ อย่าง รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นผู้หนึ่งที่อยู่กับสถานการณ์วิกฤตโควิดมาต่อเนื่อง

ออกแถลงการณ์ในนาม นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีข้อเสนอ 3 ข้อ ขอให้ฝ่ายเกี่ยวข้อง ดำเนินการ 3 ข้อ คือ

1.ฝ่ายรัฐบาล ต้องมีมาตรการเด็ดขาดในการระงับการเคลื่อนย้ายของประชาชนให้มากที่สุด และเร็วที่สุด เพื่อทำการคัดแยกผู้ติดเชื้อที่มีอยู่เดิม และผู้เสี่ยงสูง เข้ากระบวนการดูแลรักษา และลดการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ให้น้ำหนักกับข้อมูล และข้อเสนอจากภาคการแพทย์ มากกว่าจากภาคการเมือง ที่ไม่สามารถบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.ฝ่ายประชาชน ปฎิบัติตามาตรการควบคุมโรคโดยเคร่งครัด ให้ความร่วมมือตามคำแนะนำของภาคการแพทย์

3.ภาคการแพทย์ วางระบบการใช้ศักยภาพในปัจจุบันของแต่ละพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดขั้นตอนที่ทำให้ผู้ป่วยตกค้างอยู่ในโรงพยาบาลและในชุมชน โดยไม่จำเป็น และอดทนอดกลั้นต่อความคาดหวังของสังคม ต่อนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ทันการ และต่อคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ของภาคการเมือง

ล่าชื่อบุคลากรการแพทย์ หนุน 5 ข้อเร่งแก้ระบบบริหารจัดการโควิด

ขณะที่วันนี้ (25 เม.ย.2564) กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ได้ออกแถลงการณ์ขอรายชื่อสนับสนุนรายชื่อบุคคลากร เพื่อนำเสนอ 5 ประเด็นต่อการแก้ไขสถานการณ์โควิด โดยมีเนื้อหาระบุดังนี้

แถลงการณ์ข้อเสนอของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ (25 เมษายน 2564)

ฉบับที่ 1

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ณ เวลานี้ กำลังดำเนินไปด้วยความรุนแรงและรวดเร็ว อันอาจจะนำมาซึ่งความล้มเหลวต่อการระบบสาธารณสุขโดยรวมซึ่งมีผลต่อชีวิตและสุขอนามัยของประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า

แต่หลังจากการชี้แจงของผู้นำประเทศ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขหลายครั้ง ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการ ขาดซึ่งวุฒิภาวะที่นำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจต่อการดูแลชีวิตของบุคลากรทางสาธารสุขและประชาชนได้

 

จากการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานจริงหลายฝ่าย ทางกลุ่มฯ จึงขอเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1.ยกเลิกข้อตกลงที่ว่า “โรงพยาบาลแห่งใดตรวจพบว่า คนไข้มีการติดเชื้อ ให้โรงพยาบาลนั้นต้องรับผิดชอบดูแลจนกระทั่งคนไข้นั้น มีเตียงนอนในโรงพยาบาล” ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า ระบบที่มีอยู่ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริง และมีผู้ป่วยคงค้างรอเตียงจากโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก

- คนไข้ที่ติดเชื้อแล้ว ไม่ได้เป็นภาระของโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง เครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ ที่มีผู้ประสานงานที่ชัดเจน ต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการ รับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลที่เหมาะสม หรือโยกย้ายผู้ป่วยในพื้นที่รับผิดชอบ

 

ต้องเป็นการร่วมมือทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ในเขตสุขภาพนั้น และการคัดกรองผู้ป่วยเป็น 3 ระดับ แยกตามสมรรถนะของโรงพยาบาล เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสามารถยึดตัวอย่างการให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดฉุกเฉินได้

- ความล้มเหลวของระบบการหาเตียงผ่านคู่สาย 1668 ทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าการบริหารงานในช่วงเวลาวิกฤต ที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการอยู่นั้น “ล้มเหลวและต้องแลกมาด้วยชีวิตของประชาชน ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้อย่างเท่าเทียม” ดังนั้น 1668 จึงควรทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเขตสุขภาพเท่านั้น

 

- ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งจัดหายา Remdesivir สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งถือเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล เนื่องจากแนวโน้มการระบาดที่รุนแรงในประเทศอินเดีย และประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน

2.ให้รัฐบาลประกาศให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการและสามารถดูแลตัวเอง สามารถเลือกที่จะแยกกักตนเองที่บ้านได้

มีการติดตามอาการ และเตรียมระบบให้พร้อมที่จะเข้าสู่โรงพยาบาลได้ตลอดเวลา

- การเพิ่มจำนวนเตียงโรงพยาบาลสนาม เป็นไปเพียงเพื่อ “การประชาสัมพันธ์” มิได้สะท้อนถึงการเข้าใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น และไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

 

3.พิจารณาเรื่อง lock down อย่างเร่งด่วน

- บุคลากรทางการแพทย์ คงมิสามารถพิจารณาถึงผลต่อเศรษฐกิจสังคม ได้ แต่ในทางสาธารณสุข และความปลอดภัยของประชากร “การแสร้งว่า lock down” เลิกค่อยๆ ปิดสถานที่ต่างๆ ไม่สามารถยับยั้งการกระจายของเชื้อได้

ดังเช่นช่วงสงกรานต์ และหลายวันที่ผ่านมา การที่ยังยอมให้เปิดสถานที่ ที่มีระบบระบายอากาศแบบปิด เช่น ห้างสรรพสินค้าเป็นการกระทำที่ย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่ง

4.ขอให้ทางผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แถลงแผนการฉีดวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ที่กำลังจะได้รับอย่างละเอียด รวมทั้งแผนการจัดการเชิงระบบอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจต่อภาคประชาชน และเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกหรือสื่อมวลชนซักถามเพิ่มเติม ซึ่งจะสะท้อนถึงศักยภาพของรัฐบาล ที่มีการเตรียมแผนสำรองต่างๆ ไว้ล่วงหน้า

 

5.การตัดสินบนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่ สามารถเกิดความผิดพลาดได้ หากแต่ต้องยอมรับ และพร้อมจะขอโทษต่อประชาชน ในข้อผิดพลาด ในการบริหารจัดการที่ผ่านมา รวมถึงการสื่อสารที่ทำร้ายจิตใจของบุคลากรทางการแพทย์

- เรียนรู้จากการบริหารที่ผิดพลาดในอดีต จากกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พิสูจน์แล้วว่า บริหารจัดการได้ผิดพลาด ควรพิจารณาเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการ

ในฐานะของตัวแทนบุคลากรทางสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและเอกชน ขอประกาศว่า

พวกข้าพเจ้า “กำลังทำหน้าที่ของตนเองอยู่ และจะทำต่อไปอย่างเต็มที่” เพื่อให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปได้อย่างดีที่สุด แต่เราจำเป็นต้องพึ่งพาระบบการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยมด้วยเช่นกัน

ด้วยความเคารพ
คณะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของบุคลากรทางการแพทย์ เกิดขึ้นต่อเนื่อง หลังจากเกิดสถานการณ์หน้างานล้นเกินกำลังคนทำงาน แต่ระดับนโยบายอย่าง ศบค. ยังยืนยันว่า เตียงพอและบุคลากรพร้อม

ส่วนอีกความเคลื่อนไหว ของกลุ่ม "หมอไม่ทน" คือ การขอรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ ผ่านเว็บ chang.org ออกแคมเปญเรียกร้องให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ลาออกจาก รมว.สาธารณสุข ที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการการปัญหาระบาดของโควิด-19

 

หลังจากตั้งหัวข้อขอรายชื่อสนับสนุนเมื่อวานนี้ (24 เม.ย.2564) ปรากฎว่า จนถึงเวลา 15.15 น.ของวันนี้ (25 เม.ย.2564) มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุน 76,888 คน

แบบฟอร์มลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์ข้อเสนอของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ (google.com)

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง