ศบค.เล็งปรับ "ผู้มีน้ำหนักเกิน" เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ฉีดวัคซีนก่อน

สังคม
26 เม.ย. 64
13:11
955
Logo Thai PBS
ศบค.เล็งปรับ "ผู้มีน้ำหนักเกิน" เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ฉีดวัคซีนก่อน
Lศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,048 คน เสียชีวิตเพิ่ม 8 คน เสียชีวิตสะสม 148 คน นอกจากนี้ ศบค.เตรียมทบทวนให้ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงได้รับการฉีดวัคซีนก่อน

วันนี้ (26 เม.ย.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,048 คน เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,038 คน เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 คน ยอดผู้ป่วยสะสม 57,508 คน เสียชีวิตเพิ่ม 8 คน เสียชีวิตสะสม 148 คน ขณะนี้มีผู้รักษาตัวอยู่ใน รพ. 25,767 คน อาการหนัก 563 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 150 คน 

เสียชีวิต 8 คน

ผู้เสียชีวิตรายที่ 141 เป็นชายไทย อายุ 61 ปี จ.ปทุมธานี มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด มีอาการไข้ ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก 17 เม.ย. และเสียชีวิต 24 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 142 เป็นชายไทย อายุ 45 ปี กทม. มีอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก เมื่อวันที่ 17 เม.ย. และเสียชีวิตเมื่อ 24 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 143 เป็นชายไทย อายุ 24 ปี จ.อุดรธานี มีโรคประจำตัวเนื้องอก หลอดน้ำเหลือง มีอาการไข้ ถ่ายเหลว อาเจียน เมื่อวันที่ 22 เม.ย. และเสียชีวิต 24 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 144 เป็นชายไทย อายุ 92 ปี จ.ชัยภูมิ มีโรคประจำตัวหัวใจขาดเลือด มีอาการไข้ เจ็บหน้าอก เมื่อวันที่ 19 เม.ย. และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย.

 

ผู้เสียชีวิตรายที่ 145 เป็นชายไทย อายุ 63 ปี อยู่ที่ จ.ยะลา มีโรคประจำตัวไตวายเรื้อรัง มีอาการเหนื่อย ไอ พบเชื้อวันที่ 20 เม.ย. เสียชีวิตวันที่ 25 เม.ย

ผู้เสียชีวิตรายที่ 146 เป็นหญิงไทย อายุ 52 ปี อยู่ที่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ โรคอ้วน มีไข้ ไอ เจ็บคอ พบเชื้อวันที่ 23 เม.ย. เสียชีวิตวันที่ 24 เม.ย.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 147 เป็นหญิงไทย อายุ 57 ปี อยู่ที่ กทม. มีโรคประจำตัว หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีอาการไอ ปวดหลัง พบเชื้อวันที่ 20 เม.ย. เสียชีวิตวันที่ 24 เม.ย.

 

ยันไม่มีเช่าเหมาลำจากอินเดียเข้าไทย

แนวโน้มผู้ป่วยมีทิศทางลดลง โดยช่วง 2-3 วันนี้ พยายามจัดสรรเตียงให้ผู้ป่วยอย่างครบถ้วน และขอความร่วมมือเคร่งครัดมาตรการป้องกัน COVID - 19

สำหรับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 คน ในจำนวนนี้มีชาวอินเดีย 4 คน เข้ากักตัวใน ASQ ส่วนกรณีชาวอินเดียเช่าเครื่องบินเหมาลำเข้าไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ตรวจสอบ ยืนยันว่าไม่มีการออกเอกสารอนุญาต และไม่มีการเข้าไทยโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 อันดับแรก กทม. 901 คน สมุทรปราการ 110 คน ชลบุรี 104 คน นนทบุรี 97 คน เชียงใหม่ 84 คน สุราษฎร์ธานี 61 คน สมุทรสาคร 56 คน นครปฐม 48 คน สงขลา 38 คน และเพชรบุรี 32 คน

พญ.อภิสมัย ยังกล่าวว่า หากทางจังหวัดสามารถควบคุมสถานการณ์ได้พอสมควร วันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มใน 9 จังหวัด ข้อมูลคลัสเตอร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น จ.เชียงใหม่ 6 คลัสเตอร์ ผู้ติดเชื้อรวม 179 คน กทม.มีผู้ติดเชื้อเกิน 5 คลัสเตอร์ แต่ละคลัสเตอร์เกิน 50 คน อุดรธานี 3 คลัสเตอร์ ผู้ติดเชื้อรวม 70 คน

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการตรวจหาเชื้อที่ จ.สมุทรสาคร มีความร่วมมือหน่วยงานและจังหวัดรอบข้าง ค้นหาเชิงรุกในชุมชน ตลาด โรงงาน ระบบการตรวจเป็นไปในทิศทางเดียวและครั้งเดียว

ส่วน กทม.และปริมณฑล มีห้องปฏิบัติการหลายสถานที่ และมีมาตรฐานต่างกัน บางครั้งผู้ป่วยติดเชื้อแต่ผลออกมาเป็นลบ ทำให้บุคลากรที่ยืนยันผลตรวจใช้เวลานาน ขณะนี้การตรวจห้องปฏิบัติการได้เพิ่มศักยภาพการรับผลตรวจ ให้ทุกห้องปฏิบัติการนำผลมารวมกันอยู่ที่กรมการแพทย์ เพื่อรายงานและยืนยันตัวตน ทำให้รวดเร็วขึ้นมาก

ทบทวนจัด "ผู้มีน้ำหนักเกิน" เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 

เมื่อผู้ป่วยได้รับคัดแยกอาการ สีเขียวไปที่ รพ.สนาม ส่วนสีเหลืองและสีแดง จะนำเข้า รพ. ซึ่ง กทม. และปริมณฑล พยายามเพิ่มประสิทธิภาพและจัดหาเตียง นำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา นอกจากนี้ ยังมีการหารือว่าอาจทบทวนให้กลุ่มผู้ที่น้ำหนักเกินอาจอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง และได้รับการฉีดวัคซีน ระยะ 1 ร่วมกับโรคประจำตัวที่มีความรุนแรงอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจ

วานนี้มีผู้ป่วยใน กทม. ปริมณฑล กลับบ้าน 400 กว่าคน มีเตียงรองรับผู้ป่วยเพิ่ม170เตียง แต่พบว่ารพ.ยังเปิดให้บริการผู้ป่วยปกติเช่น ผ่าตัด โรคอื่น ๆ หมายความว่าต่อให้มีเตียงแต่บุคลากรหรือทรัพยากรอาจไม่มีความพร้อม ย้ำว่ามีความพยายามเพิ่มศักยภาพอย่างเต็มที่และเพิ่ม รพ.สนาม รวมถึงที่ประชุม ศบค.พูดถึงการเปิด รพ.สนาม โดยกองร้อย ตชด. เพิ่มอีก 14 แห่ง

กรณีการเดินทางมาจากต่างประเทศ ระบบเดิมที่ยังใช้อยู่เมื่อเข้ามาอย่างถูกต้อง และกักตัว SQ และ ASQ ส่วนเรื่องการชะลอออกรับใบรับรองในการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry: COE) ที่ประชุม ศบค.มีการทบทวนขอให้ติดตามการประกาศของกระทรวงการต่างประเทศว่าจะเป็นอย่างไร

ส่วนการดูแลคนไทยที่จะเดินทางกลับบ้าน พยายามไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสิทธิแต่ต้องดูแลไม่ให้แพร่เชื้อ COVID-19 ออกมาจาก SQ และ ASQ

นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับการกักตัว หลายครั้งพบการติดเชื้อในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศในช่วงกักตัววันที่ 10, 11,13 รวมถึงรายงานของต่างประเทศพบว่า ผู้ที่รักษาในโรงพยาบาลครบ 14 วัน และออกจากโรงพยาบาลไปแล้วมีรายงานการติดเชื้อได้ยาวถึง 21 วันกรมควบคุมโรคพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและขอให้ติดตามรายละเอียด

ถกล็อกดาวน์ 6 จังหวัดสีแดง 

กรณีการล็อกดาวน์ในบางจังหวัดนั้น ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ จะมีการทบทวนมาตรการพื้นที่เพราะหลายจุดเริ่มปรับเป็นสีขาว เขียว เหลือง ที่ระบุคลัสเตอร์ได้ชัดเจนว่าผู้ติดเชื้ออยู่ตรงไหนและเชื่อมต่อที่ใครบ้าง

วนกลุ่มที่เป็นสีเข้มมีอยู่ 6 จังหวัดจะล็อกดาวน์หรือไม่ หรือกำหนดมาตรการเพิ่มอย่างไร วันนี้กรมควบคุมโรค ได้หารือกับ ศบค. และใน 1-2 วันนี้ จะได้เห็นมาตรการปรับความเข้มในบางพื้นที่ หรือแต่ละกิจการ/กิจกรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง