เตือน 5 เชื้อโควิดกลายพันธุ์ 3 เดือนคร่าชีวิตทั่วโลก 1 ล้านคน

สังคม
27 เม.ย. 64
16:12
5,716
Logo Thai PBS
เตือน 5 เชื้อโควิดกลายพันธุ์ 3 เดือนคร่าชีวิตทั่วโลก 1 ล้านคน
"หมอประสิทธิ์" ยกคำเตือนขององค์การอนามัยโลก COVID-19 ระบาดรอบใหม่ 5 เชื้อกลายพันธุ์คร่าชีวิตทั่วโลก 3 เดือน 1 ล้านคน

วันนี้ (27 เม.ย.2564) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ COVID-19 ว่ามีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งเฝ้าระวังติดตามการเปลี่ยนแปลงของ COVID-19 โดยพบว่า 8 สัปดาห์ต่อเนื่องที่อุบัติการณ์เกิดโควิดเพิ่มต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มต่อเนื่อง 5 สัปดาห์

 

ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโควิดประมาณ 3 ล้านคน ที่ผ่านมาใช้เวลา 9 เดือนถึงจะมีคนเสียชีวิตถึง 1 ล้านคน แต่จำนวนผู้เสียชีวิต 1 ล้านที่ 2 ถัดมาใช้เวลา 4 เดือน และ 1 ล้านที่ 3 ใช้เวลาเพียง 3 เดือน เป็นอุบัติการณ์การเสียชีวิตที่เร็วขึ้น ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้อง ขณะที่โควิดทั่วโลกพบมากขึ้นในคนอายุน้อยลง เช่นเดียวกับประเทศไทยพบมากในกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี ส่วนหนึ่งมาจากผู้สูงอายุได้รับวัคซีน และป้องกันตัวเองด้วยการอยู่ในบ้าน ขณะที่คนหนุ่มสาวยังต้องออกนอกบ้านไปทำงาน 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในเดือน ก.ย.2563 เริ่มพบโควิดมีการกลายพันธุ์ และพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์สหราชอาณาจักร ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อแบบก้าวกระโดด นี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจให้วัคซีนเร็วขึ้น ในเดือน ธ.ค. ซึ่งผลการฉีดวัคซีน ทำให้อัตราการติดเชื้อใหม่เริ่มลดลง รวมทั้งอัตราการเสียชีวิต

แต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. เริ่มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลายทวีปทั่วโลก เดิมอัตราการป่วยเฉลี่ย 1 ล้านคน จะพบภายใน 2-3 วัน แต่ขณะนี้ทุก 3 วันเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน หลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีนเหมือนทุกอย่างเริ่มดีขึ้น แต่เมื่อสัปดาห์แรก มี.ค.เริ่มมีผู้ป่วยเพิ่มมา เช่นเดียวกับอัตราการเสียชีวิต โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก นำข้อมูลมาเตือนว่า 1 สัปดาห์มีผู้ป่วย 5 ล้านคน หรือคิดเป็น 8 แสนคนต่อวัน หากทุกประเทศทุกคนไม่ช่วยก็อาจจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึงวันละ 1 ล้านคน

สถานการณ์ฉีดวัคซีนทั่วโลก

นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนแล้ว 1,009 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 18 ล้านโดส การฉีดวัคซีนให้เร็ว ให้ทัน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดจากไวรัสกลายพันธุ์ โดยยกตัวอย่างของแต่ละประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีน

อย่างสหรัฐอเมริกา ล่าสุดวันที่ 26 เม.ย. มีการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 225 ล้านโดส ฉีดวันละ 2,800 ล้านโดส จากประชากร 332.5 ล้านคน โดยฉีดไปแล้วร้อยละ 41.8 ของประชากร ได้รับวัคซีน 1 โดส และร้อยละ 28 ได้ครบโดส สิ่งที่เห็นคือ อัตราผู้ติดเชื้อลดลงชัดเจน จากข้อมูลวันที่ 14 ธ.ค.2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการฉีดวัคซีน มีคนติดเชื้อประมาณ 200,000 คนต่อวัน แต่วัขณะนี้สหรัฐฯ มีการติดเชื้อประมาณ 40,000 คนต่อวัน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตวันที่ 14 ธ.ค.2563 มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,800 คนต่อวัน แต่ขณะนี้มีคนเสียชีวิต 421 คนต่อวัน

ส่วนที่ประเทศอินเดีย มีการฉีดวัคซีนล่าช้าเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยพบว่ามีการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ฉีดไปแล้ว 140 ล้านโดส เป็นวัคซีนเข็มแรก ร้อยละ 8.7 เข็มที่ 2 ร้อยละ 1.6 ถือว่ามีอัตราการฉีดน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยขณะนี้พบว่าอัตราการเสียของอินเดีย เพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่าอยู่ที่ 2,766 คน จากเดิมเฉลี่ยวันละ 100 คนต่อวัน

 

ขณะที่ประเทศอิสราเอล ถือป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมมากในการควบคุมโควิด โดยเริ่มฉีดครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2563 ขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อ 2,734 คน และเริ่มระดมฉีดวัคซีน จนวันนี้เหลือติดเชื้อ 83 คนต่อวัน ส่วนอัตราเสียชีวิต วันที่เริ่มฉีดวัคซีนครั้งแรก คือ 19 ธ.ค. พบ 17 คน ปัจจุบัน (26 เม.ย.64) เสียชีวิต 1 คน

อิสราเอลมีการฉีดไปแล้ว 10 ล้านโดส จากประชากรทั้งหมด 8.8 ล้านคน โดยฉีดเข็มแรก ร้อยละ 59.4 เข็ม 2 ร้อยละ 55.3 จะเห็นได้ว่าอัตราการเสียชีวิตเดิม 17 คนต่อวัน ปัจจุบันเหลือ 1 คนต่อวัน ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนหากฉีดได้มากและรวดเร็วจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่องค์การอนามัยโลกเตือนกรณีที่อิสราเอล อนุญาตให้ประชากรไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดที่สำคัญคือ B1.1.7 เป็นสายพันธุ์ของสหราชอาณาจักร เมี่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมพบว่าแพร่กระจายเร็วขึ้น เดิมพบว่าไม่เพิ่มความรุนแรง แต่รายงานล่าสุดสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าอาจทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสายพันธุ์นี้เข้ามาไทยแล้ว ส่วนสายพันธุ์แอฟริกา B 1.351 พบว่าแพร่กระจายเร็ว แต่ข้อมูลล่าสุดไม่เพิ่มความรุนแรง และยังพบว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ทั้งแอสตราเซเนกา และไฟเซอร์ครอบคลุมสายพันธุ์นี้ในสัดส่วนค่อนข้างดี

ส่วนสายพันธุ์บราซิล P.1 พบครั้งแรก ม.ค.2564 และพบได้ในญี่ปุ่น ซึ่งแพร่กระจายเร็ว และมีหลักฐานว่าเกิดการติดเชื้อซ้ำได้ นอกจากนี้ในสหรัฐฯ มีสายพันธุ์ B.1427 และ B. 1.429 อาจสัมพันธุ์กับการแพร่ระบาดเร็ว ส่วนอินเดีย B.1.617 พบในอินเดีย ยังต้องศึกษาข้อมูล เพราะมีรายละเอียดน้อย

สายพันธุ์อังกฤษเชื้อรุนแรงขึ้น

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้โลกกลับมาสู่วิกฤตโควิดเรียบร้อยแล้ว ไทยต้องระวังในเรื่องของการกลายพันธุ์ COVID-19 บางสายพันธุ์เข้ามาในไทยแล้ว และรอบนี้พบผู้ป่วยหนักชัดเจน ยกตัวอย่าง รพ.ศิริราช คนไข้ 1 ใน 4 มีภาวะปอดอักเสบ และมีคนไข้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น โดยเกิดลักษณะนี้ทั่วประเทศ

คนไข้ปอดอักเสบและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากจำนวนผู้เสียชีวิต 2 หลัก คาดหากไทยยังมีผู้ป่วยหนักมากขึ้น ก็มีแนวโน้มผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ที่จำนวน 2 หลัก ซึ่งสัมพันธ์กับเชื้อกลายพันธุ์ และจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการแพร่ระบาดรอบนี้ พบว่าคนไข้ที่เสียชีวิตมีอายุน้อยลง ขออย่าประมาทและอย่าคิดว่าอายุไม่มากไม่เสียชีวิต เพราะหลายคนที่เสียชีวิตอายุไม่มาก และใช้เวลาเพียง 7-10 วัน

เมื่อมีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นความต้องการใช้หอผู้ป่วยวิกฤตหรือไอซียู จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยยอมรับว่าอาจจะขยายเตียงได้ แต่ไม่สามารถเพิ่มผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่จะมาดูแลผู้ป่วยหนักในเวลาอันสั้นได้ เพราะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยมีอาการรุนแรงทันที ขณะนี้ทุกคนต้องช่วยกันควบคุมโรค ลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ให้ได้ ไม่เช่นนั้นทรัพยากรจะไม่เพียงพอ

วัคซีนเป็นเครื่องมือเพราะอย่างน้อยร้อยละ 25 ของประชากรที่ได้รับฉีดวัคซีน ยิ่งฉีดได้เร็วและฉีดได้มาก จึงเป็นสิ่งจำเป็นและวัคซีนไม่ว่ายี่ห้อใดมีความปลอดภัย แม้จะมีอาการไม่พึงประสงค์บ้างแต่ประโยชน์มีมากกว่ายิ่งฉีดเร็วยิ่งปลอดภัย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง