"หมอยง" ไขข้อสงสัยโควิดสายพันธุ์ "อินเดีย-เบงกอล"

สังคม
27 เม.ย. 64
14:20
3,973
Logo Thai PBS
"หมอยง" ไขข้อสงสัยโควิดสายพันธุ์ "อินเดีย-เบงกอล"
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ชี้สายพันธุ์ COVID-19 ที่ระบาดในไทยขณะนี้ 98% เป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ยังไม่พบสายพันธุ์อินเดีย เบงกอล แอฟริกาใต้ และบราซิล แต่สายพันธุ์อินเดียจะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

วันนี้ (27 เม.ย.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เกี่ยวกับข้อมูลไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์อินเดียและเบงกอล ที่มีการระบาดอย่างมากของ COVID-19 ในอินเดีย ว่า เมื่อมีการระบาดมาก ไวรัสจะแพร่ลูกหลานได้มาก และมีโอกาสมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นเป็นไปตามหลักวิวัฒนาการ

 

ศ.นพ.ยง ระบุว่า หากดูตามสายพันธุ์อินเดียแล้ว แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่กระจายง่าย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนบนหนามแหลม ที่ตำแหน่ง 501 เป็น tyrosine จากสายพันธุ์เดิม คือ asparagine (E) สายพันธุ์อินเดียยังเป็นชนิด asparagine อยู่ แต่สายพันธุ์อินเดียมีจุดที่น่าสนใจในตำแหน่งการตัดแบ่งส่วน spike โปรตีนให้เป็น S1 และ S2 ด้วยเอนไซม์ furin ของมนุษย์ การเปลี่ยนกรดอะมิโนเป็น basic โดยเฉพาะ arginine (R) ทำให้หลุดเข้าเซลล์มนุษย์ได้ง่ายขึ้น และติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

 

ส่วนสายพันธุ์เบงกอล เป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง 484 เป็น Lysine ที่ทำให้หลบหนีภูมิต้านทานจากวัคซีน เช่นเดียวกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และบราซิล จึงทำให้มีการกล่าวถึงกันมาก สำหรับสายพันธุ์นี้ไม่ได้มีอะไรแปลกไปกว่าสายพันธุ์บราซิล และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เพราะหากดูแล้วสายพันธุ์แอฟริกาใต้ยังน่ากลัวกว่า

จากการตรวจสายพันธุ์โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ กว่า 500 ตัวอย่าง ที่มีการระบาดในไทยอยู่ขณะนี้ พบว่ามากกว่า ร้อยละ 98 เป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ยังไม่พบสายพันธุ์อินเดีย เบงกอล แอฟริกาใต้ และบราซิล ในประเทศไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง