เร่งหาเพิ่ม! เตียง ICU ผู้ป่วยโควิดเริ่มตึง ใช้ไปแล้วเกือบ 80%

สังคม
27 เม.ย. 64
15:42
7,722
Logo Thai PBS
เร่งหาเพิ่ม! เตียง ICU ผู้ป่วยโควิดเริ่มตึง ใช้ไปแล้วเกือบ 80%
รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้สถานการณ์เตียง ICU รองรับผู้ป่วย COVID-19 เริ่มตึง ใช้ไปแล้ว 70-80% เร่งปรับหอผู้ป่วยใน-ย้ายผู้ป่วยอาการดีขึ้นรองรับผู้ป่วยใหม่ พร้อมจัดโรงพยาบาลใหญ่ คุม 6 โซน ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ทั่ว กทม.

วันนี้ (27 เม.ย.2564) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศไทย โดยระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้บริหารจัดการให้ทุกโรงพยาบาลส่งข้อมูลมาให้ส่วนกลาง เพื่อจะได้วิเคราะห์ข้อมูลเตียง โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 13 เขตสุขภาพ


ล่าสุด เขตสุขภาพ 1 - 12 มีเตียงอยู่ในปริมาณที่บริหารจัดการได้เพียงพอเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ครองเตียง ส่วนกรุงเทพมหานคร หรือ เขตสุขภาพ 13 มีเตียง 12,679 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ประมาณ 8,000 เตียง ขณะนี้ยังมีเตียงว่างอยู่อีกประมาณ 4,000 เตียง


สำหรับเตียงห้องความดันลบ AIIR ICU คือ ห้องที่พร้อมสำหรับผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อหายใจ มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 75.3% และรองลงมาคือ ห้อง Modified AIIR ดูแลผู้ป่วยหนักได้ มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 85.3%

ห้อง AIIR ICU กับ Modified AIIR 2 ส่วนนี้ มีผู้ป่วยเข้ามาครองแล้ว 70-80% แล้ว ตอนนี้ถึงจุดที่ตึง ไม่ค่อยมีสเปซที่เหลือให้ผู้ป่วยใหม่ เว้นแต่บริหารจัดการที่ดี เพราะเราไม่สามารถเอาผู้ป่วยเข้าไปได้ 100%


นพ.ณัฐพงศ์ ระบุว่า การบริหารจัดการในโรงพยาบาลนั้นสามารถปรับหอผู้ป่วยภายในให้คล้ายกับ ICU ได้ ซึ่งหลายโรงพยาบาลดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ จะดำเนินการย้ายผู้ป่วยในห้อง ICU ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ใน ICU ออกมาอยู่หอผู้ป่วยสามัญเพิ่มขึ้น และเพิ่มจำนวนห้องความดันลบ ICU ของเอกชน ซึ่งยังมีเหลืออยู่ 

สำหรับโรงพยาบาลสนามมีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 63% ยังเหลือเตียงว่างอีก 37% ส่วน Hospitel มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 56.6% ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้หมด

แบ่ง  รพ.ใหญ่ คุม 6 โซน ดูแลผู้ป่วยโควิดทั่วกรุง

นพ.ณัฐพงศ์ ยังระบุอีกว่า ในหน่วยงานของ กทม. รวมหลายหน่วยงานมีเตียงทั้งหมด 19,589 เตียง โดยในจำนวนนี้เป็นเตียงเอกชน 13,718 เตียง โดยมีอัตราการครองเตียงทั้งหมดแล้ว 12,500 เตียง ยังเหลือเตียงว่างอีก 7,089 เตียง


อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลสนาม รักษา COVID-19 หายได้ หากอาการไม่หนักหรือไม่มีอาการ แต่หากอาการหนักจำเป็นต้องส่งโรงพยาบาลแพทย์หรือโรงพยาบาลใหญ่ เพื่อให้ได้โรงพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อมและมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญ

ขอประชาชนที่แพทย์วินิจฉัยให้ไปโรงพยาบาลสนาม ขอให้ความร่วมมือด้วย เพื่อจะได้ช่วยรักษาจนหายเป็นปกติ


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดแบ่งพื้นที่โซนใน กทม. เป็น 6 โซน ตามพื้นที่ที่ติดต่อกัน ได้แก่

  1. โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าและราชวิถี 
  2. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  3. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์/ภูมิพล
  4. โรงพยาบาลรามาธิบดี
  5. โรงพยาบาลศิริราช
  6. วชิรพยาบาล

สำหรับโรงพยาบาลที่เป็นหัวหน้าโซน จะดำเนินการดูแลโรงพยาบาลเล็ก ๆ ทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่จำเป็นที่ทุกคนเป็น COVID-19 ต้องเข้าโรงพยาบาลราชวิถี แต่จะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาทางไกล และไปเยี่ยมได้ ส่วนภาคเอกชนจะมีเครือใหญ่ ๆ เช่น สมิติเวช เกษมราษฎร์ กรุงเทพ มีระบบดูแลโรงพยาบาลในเครือ หากมีความจำเป็น สามารถปรึกษาข้ามโซน โดยมีศูนย์บริหารจัดการเตียงโรงพยาบาลราชวิถี เป็นศูนย์กลาง

เราเชื่อมั่นว่าทีมแพทย์จะดูแลประชาชนได้อย่างดีที่สุด การบริหารจัดการจะเป็นเช่นนี้ ขอให้มั่นใจว่า ทุกโซนใน กทม.จะได้รับการดูแลเหมือนกันในทุกพื้นที่

สายด่วนหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิดตกค้าง 2,800 คน

สำหรับสายด่วนทุกเครือข่าย ได้โทรไปตรวจสอบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่ตกค้างทุกคน อย่างสายด่วน 1668 มีผู้ป่วยตกค้างจำนวน 880 คน เมื่อโทรกลับไปติดต่อพบว่า เหลือผู้ป่วยเพียง 121 คน ที่ยังรอเตียงอยู่ ส่วนใหญ่ได้เข้ารับการรักษาแล้ว บางส่วนกลับบ้านแล้ว แต่ในระบบยังมีชื่ออยู่ ขณะนี้ได้แก้ปัญหาครบ 2,800 คน ที่ตกค้างอยู่แล้ว ขณะนี้เป็นผู้ป่วยรายใหม่เท่านั้น

 
แผนดำเนินการหลังจากนี้ จะมีการเปิดโรงพยาบาลแรกรับ กระทรวงสาธารณสุขที่อาคารนิมิตรบุตร และเปิด/ขยายโรงพยาบาลสนามและเตียงเพิ่ม เพื่อรับผู้ป่วยสีเหลืองมากขึ้น พร้อมคัดเลือกผู้ป่วยกลุ่มอาการดีขึ้น (สีเขียว) จากโรงพยาบาลหลัก ไปพักรักษาต่อในโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพ Call center 1668

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง