ขยะติดเชื้อพุ่ง 20 ตันต่อวันวาง 1,000 จุดทิ้งแมสก์ "พับ ก่อน ทิ้ง"

สิ่งแวดล้อม
28 เม.ย. 64
13:54
7,275
Logo Thai PBS
ขยะติดเชื้อพุ่ง 20 ตันต่อวันวาง 1,000 จุดทิ้งแมสก์ "พับ ก่อน ทิ้ง"
กทม.พบขยะติดเชื้อจาก COVID-19 เพิ่ม 20 ตันต่อวัน โดยเฉพาะแนวโน้มขยะจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วพบทิ้งปะปนในขยะบ้าน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ขอความร่วมมือทุกครัวเรือนแยกรวบรวมใส่ถุงติดป้ายชัดเจนก่อนนำไปทิ้งในจุดรับทิ้งของกทม.1,000 จุด

หลังจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ในเดือนเม.ย.นี้ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นรายวัน ทำให้ต้องมีการเปิดเตียงสนามรองรับผู้ติดเชื้อเข้ากระบวนการรักษา ขณะที่ประชาชน หลังกทม.ออกประกาศให้ผู้ที่ออกนอกเคสถาน และออกนอกมานอกบ้านต้องใส่หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า ล่าสุดกทม.มีการประเมินตัวเลขขยะติดเชื้อในกทม.เพิ่มมากกว่า 20 ตันต่อวัน

วันนี้ (28 เม.ย.2564) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้หารือกับกทม.และจังหวัดต่างๆเพื่อให้ทำตามคู่มือการจัดการขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะการทิ้งหน้ากากอนามัยจากครัวเรือนที่ยังพบส่วนใหญ่ทิ้งปะปนกับขยะบ้าน โดยไม่คัดแยกทิ้งให้ชัดเจน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดขึ้นได้ เพราะขยะติดเชื้อทั้งหน้ากากอนามัย ของใช้ที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งเมื่อไม่ได้ถูกแยกออก ก็จะทิ้งปะปนไปรถขยะและไปจบที่กองขยะ

 

นายอรรถพล กล่าวว่า ภาพรวมขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลสนาม และในโรงพยาบาลที่รักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งใน กทม.และจังหวัดต่างๆไม่น่ากังวล เพราะขยะติดเชื้อทุกประภทต้องนำเข้าระบบการจัดเก็บและกำจัดและมาตรฐานกำจัดขยะติดเชื้อ แต่ที่กังวลคือประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ยังทิ้งรวมกับขยะปกติ

ขอความร่วมมือทุกครอบครัวต้องมีถังขยะติดเชื้อทิ้งหน้ากากอนามัยแยกต่างหาก ขอให้ม้วนด้านในที่สัมผัสกับปาก และนำสายรัดให้แน่นลงในถังเฉพาะ สัก 3-4 วันก็รวบรวมใส่ถุงพลาสติก และถุงที่ไม่เปียกน้ำง่าย มัดปากถุงให้แน่น เวลาจะทิ้งเขียนป้ายว่าเป็นขยะติดเชื้อ 

อ่านข่าวเพิ่ม ขยะหน้ากากอนามัย ส่อแววพุ่งคนแห่ใช้-ทิ้งปะปนขยะบ้าน

 

ภาพ:สำนักประชาสัมพันธ์กทม.

ภาพ:สำนักประชาสัมพันธ์กทม.

ภาพ:สำนักประชาสัมพันธ์กทม.

สถิติปี 63 จัดเก็บขยะหน้ากาก 17.8 ตัน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า หากเทียบข้อมูลการรวบรวมปริมาณขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เคยสำรวจไว้ผ่านทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-31 ธ.ค.63 จากทั้งหมด 2,690 แห่ง มีปริมาณขยะ 17.89 ตัน ซึ่งมีการนำหน้ากากอนามัยไปทิ้งในบ่อฝังกลบทั่วไป ร้อยบะ 25 เผาในเตาขยะติดเชื้อร้อยละ 9 จ้างเอกชนรับกำจัดร้อยละ 8 และรวบรวมให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำจัดถูกวิธีร้อยละ 51 

คาดการณ์ในปี 64 คาดว่าจะมีขยะหน้ากากอนามัยสูงกว่านี้มาก เบื้องต้นพบขณะนี้มีการใช้หน้ากากอนามัยจากประชากรทั่วประเทศ แบ่งเป็นหน้ากากอนามัย 42.9 ล้านชิ้นต่อวัน หรือ 35% ส่วนหน้ากากผ้า 23.1 ล้านชิ้น หรือ 65% 
ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ

 

ทั้งนี้หากเทียบการผลิตและนำเข้าหน้ากากอนามัยและที่ใช้แล้วปี 2563 และปี 2564(ม.ค.-ก.พ.) มีดังนี้ ปี 63 ผลิต 296.92 ตัน ใช้แล้ว 41.98 ตัน ปี 64 (ม.ค.-ก.พ.) ผลิต 101.37 ตัน ใช้แล้ว 16.8 ตัน

นอกจากขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนอย่างชัดเจน ขณะนี้ยังมอบหมายให้กองจัดการของเสียและขยะอันตราย รวบรวมตัวเลขขยะในครัวเรือน โดยเฉพาะปริมาณพลาสติกทุกชนิดที่ปีก่อน พบว่ามีอัตราการใช้สูงขึ้นราว 15% แต่จากการระบาดระลอกนี้อาจจะสูงขึ้นมาก เพราะจากการล็อกดาวน์ การ WFH ทำให้การสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย

กำลังประเมินตัวเลขจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ บางจังหวัดล็อกดาวน์ และให้ทำงานที่บ้านว่าจะส่งผลให้ขยะครัวเรือน ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะปีก่อนมากกว่า 15% 
ภาพ: เฟซบุ๊กวิสันต์ โพธิ์งาม

ภาพ: เฟซบุ๊กวิสันต์ โพธิ์งาม

ภาพ: เฟซบุ๊กวิสันต์ โพธิ์งาม

กทม.พบขยะติดเชื้อพุ่ง 20 ตันต่อวัน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ COVID-19 รวมถึงขยะหน้ากากอนามัยที่เก็บขน และกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลสนาม Hospitel และสถานที่สำหรับผู้กักตัว เช่น บ้านพักอาศัย สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว เพิ่มมากขึ้นเกือบ 20 ตันต่อวัน

 

 

เช็กพิกัดทิ้งขยะติดเชื้อลงถังส้มในกทม.1,000 จุด

ขณะที่สำนักประชาสัมพันธ์ กทม.เริ่มรณรงค์การแยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ถูกที่ถูกวิธีเป็นส่วนหนึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 โดย กทม.ขอความร่วมมือประชาชน ทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี และไม่ทิ้งปะปนกับมูลฝอยทั่วไปในครัวเรือน พร้อมทั้งระบุพิกัดตั้งจุดทิ้งขยะหน้ากากอนามัย 1,000 จุดในสถานที่ดังนี้ 

  • สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
  • โรงเรียนสังกัด กทม.
  • ศูนย์บริการสารารณสุข
  • ศูนย์กีฬา กทม.
  • โรงพยาบาลสังกัด กทม.
  • ศูนย์เยาวชน กทม.
  • ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
  • สถานีดับเพลิง
  • สวนสาธารณณะ
  • ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)
  • สถานที่สาธารณะที่เหมาะสม

สำหรับหน้ากากอนามัยที่ประชาชนแยกทิ้งกับรถเก็บขยะของ กทม. และถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม)กทม. จะเก็บรวบรวมและขนส่งไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลผอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม

ขณะที่ปัญหาการทิ้งขยะบนท้องถนนยังมีให้เห็นทั่วไป โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก วิสันต์ โพธิ์งาม
โพสต์ภาพขยะหน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งตามถนนหนทาง โดยระบุว่า วิตกกว่าโควิด คือคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ

วิตกกว่าโควิด คือคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ

โพสต์โดย วิสันต์ โพธิ์งาม เมื่อ วันอังคารที่ 20 เมษายน 2021

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขยะหน้ากากอนามัย ส่อแววพุ่งคนแห่ใช้-ทิ้งปะปนขยะบ้าน

How to ทิ้ง "หน้ากากอนามัยใช้แล้ว"

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง