ศบค.เพิ่มคู่สายหาเตียงให้ผู้ป่วย โทรติดใน 2 นาที

สังคม
28 เม.ย. 64
13:31
974
Logo Thai PBS
ศบค.เพิ่มคู่สายหาเตียงให้ผู้ป่วย โทรติดใน 2 นาที
ศบค.เผยเร่งพัฒนาระบบรองรับการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วย COVID-19 เผยโทรติดภายใน 2 นาที ชี้ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดและมีอาการหนักจำนวนมากจึงต้องจัดสรรเตียงให้ผู้ป่วยอาการหนักได้รับการรักษาก่อน

วันนี้ (28 เม.ย.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID - 19 ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,012 คน เป็นอันดับที่ 104 ของโลก ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 61,699 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 15 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 178 คน

 

ยอดผู้เสียชีวิตระลอกเดือน เม.ย.2564 สะสม 84 คน ซึ่งเป็นยอดที่รวมผู้เสียชีวิตรายใหม่อีก 15 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัว 27,119 คน มีอาการหนัก 695 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 199 คน ผู้เสียชีวิตทั้ง 15 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 4 คน โดยรวมมีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูง หอบหืด ไตเรื้อรัง อ้วน ไทรอยด์ และอัลไซเมอร์

ผู้เสียชีวิตติดเชื้อ COVID-19 จากในครอบครัวมากถึง 10 คน และมี 1 คนที่เป็นข่าวว่ารอการมารับตัว 3 วันและเสียชีวิต ผลตรวจยืนยันผลเป็นบวก ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกท่าน

 

พญ.อภิสมัย ยังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2564 ได้มีมาตรการปิดสถานบันเทิง และช่วงสงกรานต์ขอให้ WFH และประกาศพระราชกำหนดฉบับที่ 20 เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้น้อยที่สุด ทิศทางกราฟยังค่อนข้างสูง ตัวเลขยังสูง ประชาชนต้องร่วมมือกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่


ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เดินทางมาจากต่างประเทศมี 11 คน โดยมาจากอินเดีย 1 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 คน สาธารณรัฐเช็ก 1 คน กาตาร์ 1 คน จีน 1 คน ปากีสถาน 4 คน กัมพูชา 2 คน ทั้งหมดได้รับการดูแลใน State Quarantine

สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 หลายจังหวัดเริ่มกลับสู่สถานการณ์ที่ดูแลได้ โดยเป็นตัวเลขสีเหลือง มีเตียงรองรับ บางจังหวัดมีการจัด รพ.สนาม ซึ่งการดูแลที่ดีจะช่วยลดการติดเชื้อได้

พญ.อภิสมัย ยังกล่าวว่า กรณี จ.สุโขทัย มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วย 100 คน ได้เตรียมเตียงไว้ 100 เตียง เตรียมไอซียูจำนวน 31 ห้อง ใน 9 อำเภอ รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ และโรงแรมให้ความร่วมมือเปิด รพ.สนาม และ Hospitel ขณะที่บางจังหวัดตัวเลขลดลง เพราะความร่วมมือ ขณะที่10 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี และ นครปฐม

จังหวัด "สีเขียว-ขาว" เพิ่มขึ้น

พญ.อภิสมัย ยังระบุว่า แผนที่ผู้ติดเชื้อของไทยเริ่มเห็นสีเหลืองมากขึ้น บางจังหวัดเริ่มมีผู้ติดเชื้อลดลง พบรายงานสีขาว (ไม่มีผู้ติดเชื้อ) 9 จังหวัด สีเขียว (ยังพบผู้ติดเชื้อ 1-10 คน) พบ 35 จังหวัด เริ่มได้คืนพื้นที่สีขาว-สีเขียวกลับมา ขณะที่สีเหลือง (ยังพบผู้ติดเชื้อ 11-50 คน) พบใน 25 จังหวัด สีส้ม (ยังพบผู้ติดเชื้อ 51-100 คน) พบ 5 จังหวัด ขณะที่สีแดง (ยังพบผู้ติดเชื้อ 100 คนขึ้นไป) พบ 3 จังหวัด

 

ขณะที่วานนี้ (27 เม.ย.) ในกรุงเทพฯ พบหญิงไทยไปเที่ยวผับ วันที่ 2 เม.ย. และมีการแพร่เชื้อไปยังเพื่อนพนักงาน มีการตรวจพนักงาน 23 คน พบติดเชื้อ 12 คน กรมควบคุมโรคลงพื้นที่สอบสวนโรค พบว่าพนักงานกลับบ้านและสัมผัสผู้อยู่ร่วมบ้าน ทำให้มีผู้เสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำจำนวนหนึ่ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อระลอกเดือน เม.ย.64 อันดับหนึ่งคือ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน จึงมีมาตรการเว้นระยะห่างและให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด จากนั้นคือสถานบันเทิง และจากการค้นหาเชิงรุกและค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน

 

นอกจากนี้ กรมการแพทย์ CO-WARD รายงานตัวเลขวันที่ 27 เม.ย. ยอดผู้ป่วยยืนยัน 9,645 คน ซึ่งผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในกลุ่มอาการหนักและรุนแรงปานกลาง รวมแล้วเกิน 1,000 คน กลุ่มนี้ไม่สามารถไป รพ.สนาม หรือ Hospitel ได้ซึ่งแตกต่างจากคลัสเตอร์สมุทรสาครที่ส่วนใหญ่มีอาการค่อนข้างน้อย และในแต่ละวันมีผู้ป่วยรอเตียงแต่ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด มีทั้งผู้อาการหนักและกลุ่มที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะนี้ รพ.สนามเปิดเพิ่มแต่บางพื้นที่อาจไม่ตอบโจทย์ เพราะผู้ป่วยมีอาการปานกลางและหนักมาก หรือต้องใช้ท่อช่วยหายใจ จึงต้องบริหารจัดการเตียงให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

 

ในกรุงเทพฯ ผู้ป่วยอาการหนักและจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีตัวเลขค่อนข้างสูง บาง รพ.รายงานว่าต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีจำนวนครึ่งต่อครึ่ง หรือ 1 ใน 4 จึงจำเป็นต้องหาเตียงและผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงจึงให้ไป รพ.สนาม หรือ Hospitel

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนปลอดภัยและกลับบ้าน ย้ำว่า "ไม่ใช่ว่าหายแล้ว" แต่ตามมาตรฐานสาธารณสุขผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล 14 วัน และให้ไปสังเกตอาการที่บ้านอีก 14 วัน ยังห้ามไปทำงานหรือเดินทาง ดังนั้น เมื่อเคลียร์ผู้ป่วยกลับบ้านแล้วทำให้เตียงว่าง แต่ผู้ป่วยที่รอเตียงอยู่อาจยังไม่ได้เตียงทันที เพราะในวันนั้นอาจมีผู้ป่วยรายใหม่ที่อาการอาจหนักกว่าผู้ป่วยที่รอเตียงอยู่ก่อน ซึ่งเมื่อพิจารณาตามอาการผู้ป่วยที่อาการหนักจึงจะได้รับการรักษาก่อน

เพิ่มคู่สายโทรติดใน 2 นาที

พญ.อภิสมัย ขณะนี้มีการเพิ่มคู่สายเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่รอเตียง กทม.ได้พยายามเพิ่มคู่สายเพื่อให้ได้รับการจัดสรรเตียงโดยเร็ว เบื้องต้นที่ประชุมสรุปว่าจะมีการโทรติดภายใน 1-2 นาที ทั้งการประสานงานและคัดแยกผู้ป่วย ทั้งนี้ให้ผู้ป่วยประเมินตัวเองว่ามีอาการอย่างไร เมื่อติดต่อกับบุคลากรจะช่วยให้สามารถให้ข้อมูลได้ทันที และเมื่อคัดแยกว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มไหน ต้องการเตียงแบบใด จะมีการแจ้งกลับภายใน 1-2 วัน

 

สำหรับแผนการให้วัคซีน #COVID19 คือให้ครอบคลุมประชากรในไทยทั้งสิ้นร้อยละ 70 หรือ 50 ล้านคน หรือราว 100 ล้านโดส ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขทำแผนการกระจายวัคซีนเสร็จสิ้นในเดือน ธ.ค.2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง