เศรษฐกิจโลกดัน "ดัชนีอุตฯ" ฟื้นตัว เติบโตสุดรอบ 29 เดือน

เศรษฐกิจ
28 เม.ย. 64
15:50
169
Logo Thai PBS
 เศรษฐกิจโลกดัน "ดัชนีอุตฯ" ฟื้นตัว เติบโตสุดรอบ 29 เดือน
รมว.อุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 107.73 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว พร้อมระบุอุตสาหกรรมยานยนต์มาแรง เชื่อว่าคาดการณ์ในเดือน เม.ย. ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จากผลกระทบของ COVID-19

วันนี้ (28 เม.ย.2564) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 107.73 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

กลับมาเป็นบวกและเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน (ต.ค.2561 - ก.พ.2564) โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 69.59 สะท้อนแนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตตามเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น

ความเชื่อมั่นภาคการผลิต - บริโภคดีขึ้น

ขณะที่รัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และกลุ่มแพร่ระบาดไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงาน โรงงาน ดังนั้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น เราชนะ เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 เป็นต้น

และประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนและมีแผนบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2564 ทำให้ความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและการบริโภคดีขึ้น

อุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มขึ้นทุกประเภท

ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งให้ MPI ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.53 จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภทตามความต้องการทั้งจากในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวในกลุ่มประเทศเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป

และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.19 เนื่องจากเร่งผลิตเพื่อทำกำไรในช่วงที่ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 40-60 และการปรับตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำและรายการพิเศษ) ขยายตัวร้อยละ 25.77 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลักครั้งแรกในรอบ 31 เดือน อีกทั้งมีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 26.45

นำเข้า "เหล็ก - อิเล็กทรอนิกส์" เพิ่มขึ้น

สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

โดยในภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตในเดือนถัดไปจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

"รถเล็ก - ปิกอัพ" ดันดัชนีผลผลิตขยายตัว

ด้านอุตสาหกรรมหลักที่มีดัชนีผลผลิตขยายตัวในเดือน มี.ค.2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ รถยนต์ และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.53 จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล

เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ในช่วงปลายเดือน มี.ค.2564 มีการจัดงานมอเตอร์โชว์ และการส่งออกที่ขยายตัวในกลุ่มประเทศเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป

ราคาเหล็กขึ้นรับปริมาณในตลาดโลกลด

นอกจากนี้ ยังมีเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.19 จากเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี เหล็กลวด เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นกลม เป็นหลัก

โดยได้รับอานิสงส์จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาเหล็กโลกปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงมีการเร่งผลิต เพื่อทำกำไรในช่วงที่ยังมีภาวะขาดแคลนสินค้า

"น้ำตาล - เฟอร์นิเจอร์" ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนน้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.89 และเฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.76 อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.48

ทั้งนี้ เชื่อว่าคาดการณ์ MPI เดือน เม.ย. ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จากการแพร่ระบาด COVID-19 รอบ 3 เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และภาคการผลิตไม่ได้รับผลกระทบ มีการผลิตเป็นปกติ ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ประกอบกับรัฐบาลมีแผนกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง