สธ.ชี้วัคซีนโควิดสู้เชื้อกลายพันธุ์ได้ - จ่อจดทะเบียนทั่วโลกอีก 13-15 ชนิด

สังคม
29 เม.ย. 64
17:12
524
Logo Thai PBS
สธ.ชี้วัคซีนโควิดสู้เชื้อกลายพันธุ์ได้ - จ่อจดทะเบียนทั่วโลกอีก 13-15 ชนิด
กระทรวงสาธารณสุข เผยวัคซีน COVID-19 ทั้ง 2 ชนิดสามารถสู้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ แต่จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่ในปัจจุบันมีวัคซีนอีก 13-15 ชนิดที่วิจัยระยะ 3 เสร็จแล้ว และกำลังจดทะเบียนทั่วโลก

วันนี้ (29 เม.ย.2564) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เปิดเผยว่า วัคซีน COVID-19 เป็นอาวุธในการต่อสู้กับเชื้อโรค แต่ในอดีต วัคซีนแต่ละตัวจะใช้มีการวิจัยประมาณ 5-10 ปี จึงจะออกมา แต่วัคซีน COVID-19 มีการวิจัยและนำมาใช้ในระยะเวลาเพียง 10 เดือน ซึ่งเป็นการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน จะต้องเฝ้าระวังกว่าธรรมดา โดยปกติที่มีการทำอยู่แล้ว หลังจากการฉีดไปแล้ว 1, 3, 7 และ 30 วัน

ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในปัจจุบันเหลือประมาณ 1,800 คน แต่จะมุ่งฉีดวัคซีนต่อไป แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อเหลือเพียง 180 คน หรือ 18 คนก็ตาม ทั้งนี้ วัคซีนยังต้องมุ่งต่อไป เพราะจะต้องสร้างให้ประชาชนคนไทยมีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโรคนี้ ซึ่งยังคงจะต้องต่อสู้ไปอีกยาวนานมาก

วัคซีนชนิดอื่นเตรียมเข้ามาในไทย

ในปัจจุบัน มีวัคซีนเข้ามาในประเทศไทย 2 ชนิด คือชิโนแวค และแอสตราเซเนกา แต่วัคซีนชนิดอื่นที่กำลังจะเข้ามา ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ตัวนี้จะมาเติมจะต้องผ่านการพิจารณาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 10 คนในการตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ของวัคซีนแต่ละชนิดว่าจะพร้อมอนุมัติที่จะใช้ในประเทศไทยหรือไม่

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีการฉีดในประเทศไทยไปแล้วประมาณ 1.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 1.7% ของประชากรทั้งประเทศไทย ซึ่งมีคำถามถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้

เทียบประสิทธิภาพ 2 วัคซีนโควิด

นพ.ทวี กล่าวว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนชิโนแวค จากข้อมูลจากบราซิลที่ตีพิมพ์ พบว่า 14 วัน หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก สามารถป้องกันโรคได้เกือบ 50% และหลังจากฉีดเข็มที่ 2 จะป้องกันโรคได้สูงขึ้น ขึ้นไปถึงระดับ 50-60% ขึ้นไป และค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไป ซึ่งชิโนแวคมีกระบวนการผลิต เหมือนกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกา ใช้เชื้อไว้รัสที่ไปตัดตอน จนเชื้อแพร่ขยายไม่ได้แล้ว และฝังชิ้นส่วนของตัวเชื้อ COVID-19 เข้าไปในร่างกาย และร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19 ปรากฏว่าผลการศึกษา พบว่าถ้าฉีด 1 เข็ม พอครบ 3 สัปดาห์ จะเริ่มป้องกันโรคได้
พอถึง 12 สัปดาห์ ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มที่ 2 สามารถป้องกันโรคได้ 71% แต่หลังจากนั้นประสิทธิภาพจะตกลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้สูสีกัน ไม่แตกต่างกันมาก และอยู่ในเกณฑ์ที่ทั่วโลกยอมรับได้ว่ามีประสิทธิภาพที่ดี

วัคซีนสู้เชื้อกลายพันธุ์ได้ระดับหนึ่ง

ส่วนที่มีคำถามว่าวัคซีนสามารถสู้กับเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ได้หรือไม่นั้น วัคซีนชิโนแวค มีการศึกษาวิจัยที่ประเทศจีน ซึ่งมีการนำเชื้อและน้ำเหลืองของคนที่ฉีดวัคซีนชิโนแวค, วัคซีนชิโนฟาร์ม และน้ำเหลืองของคนไข้ที่หายแล้ว มาดูว่าจัดการกับไวรัสที่กลายพันธุ์ได้หรือไม่ ปรากฏว่าได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่เท่ากับเชื้อที่เป็นเชื้อดั้งเดิม

ขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกา นำมาใช้กับเชื้อกลายพันธุ์ไปแล้ว โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์ที่มีมาในประเทศไทย คือสายพันธุ์อังกฤษ พบว่าวัคซีนสามารถสู้ได้สูงถึง 70% แต่หากเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมจะได้ถึง 81% โดยสรุปแล้ว วัคซีคมีอยู่ในมือ ยังสามารถรับมือเชื้อกลายพันธุ์ได้ แต่จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เหมือนกับวัคซีนที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม

วัคซีน 13-15 ชนิด จ่อจดทะเบียน

นพ.ทวี กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีวัคซีนที่จดทะเบียนทั่วโลก ที่ทำการวิจัย ระยะ 3 เสร็จแล้ว จะมีประมาณ 13-15 ชนิด ที่กำลังจดทะเบียนอยู่ วัคซีนทุกชนิดจะออกมาคล้ายกันว่าสามารถป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันโรคที่รุนแรง ป้องกัน ICU ป้องกันใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งจะพบว่าได้เกือบ 100%

ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจว่าวัคซีนที่สร้างขึ้นมา ต้องการต่อสู้กับโรคที่รุนแรงมาก ส่วนโรคเบา สามารถอยู่ที่บ้านหรือโรงพยาบาล ก็ไม่รุนแรงมาก เพราะที่เรากลัวคือกลัวรุนแรง เพราะคนไข้ที่ต้องอยู่ใน ICU จะต้องใช้ทรัพยากรทั้งบุคลากรและยาจำนวนมหาศาลมาก สิ่งที่ทางการแพทย์ที่เห็นคนไข้จำนวนมาก สิ่งที่กังวลที่สุดคือ ICU แต่ยังรับมือได้อยู่

"ชิโนแวค" มีผลข้างเคียงน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม วัคซีนถูกสร้างมาแค่ไม่ถึง 1 ปี และต่ำกว่า 1 ปี และถูกอนุมัติใช้อย่างเร่งด่วน ทุกประเทศจะต้องจับตามองเป็นพิเศษ พบว่าวัคซีนชิโนแวคมีความปลอดภัย และผลข้างเคียงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับแอสตราเซเนกา พบว่า 20-30% จะมีอาการปวดบวม แดงร้อน ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว แต่จะหายไปภายใน 2 วัน

ส่วนกรณีที่พบว่าหลังฉีดวัคซีนแล้วมีอาการอัมพฤกษ์ จากการวิเคราะห์พบว่าเป็นผลข้างเคียงจากความวิตกกังวลที่ทำให้เกิดอาการทางกายได้ แต่พบว่าอาการหายไปภายใน -3 วัน ทุกคนหายหมด และหายเป็นปกติ

นพ.ทวี กล่าวว่า ทุกคนที่ไปทำ MRI สแกนสมองหายเป็นปกติหมด ทุกคนเป็นผู้หญิงและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมอว่าอาจจะเป็นไปได้ที่ทำงานหนัก เพลียมาก แล้วไปฉีดวัคซีน ก็อาจจะเกิดความวิตกกังวล และหลายคนมีเรื่องของการแพ้อาหารและมีโรคประจำตัว แต่คนที่มีโรคประจำตัวควรจะฉีดวัคซีนอยู่แล้ว

"ลิ่มเลือด" มักเกิดกับคนยุโรป-แอฟริกา

ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกา ผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้คล้ายชิโนแวค แต่สูงกว่าประมาณ 40-50% จะมีอาการปวดบวม แดงร้อน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว แต่หายเองภายใน 48 ชั่วโมง

แต่มีรายงานว่าที่ต่างประเทศ พบว่าเกิดลิ่มเลือด ซึ่งพบได้ประมาณ 4 ในล้านโดส ปรากฏว่าคนในเอเชียพบน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นคนในทวีปยุโรป และแอฟริกา ซึ่งจะพบในคนที่เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ สูบบุหรี่จัด จะเกิดลิ่มเลือดได้ง่าย

โรคลิ่มเลือด ตอนที่ยังไม่มีวัคซีน COVID-19 จะพบน้อย จากการศึกษาพบว่าลิ่มเลือดที่เกิดจากแอสตราเซเนกา ประมาณ 4 ในล้านโดส ถ้าเป็น COVID-19 โอกาสเกิดลิ่มเลือดอยู่ที่ 125,000 คนต่อล้านคนที่ป่วยเป็น COVID-19 หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 8 ซึ่งสูงกว่า 100 เท่า
.
คนที่สูบบุหรี่จัด 1 ล้านคน จะเป็นลิ่มเลือด 1,700 คน ซึ่งลิ่มเลือดเป็นความวิตกกังวลของประเทศในฝั่งตะวันตกมากกว่าของเอเชีย แต่ต้องมีการจับตามองต่อไป

แนะฉีดวัคซีนช่วยป้องกันการระบาด

นพ.ทวี กล่าวอีกว่า โดยสรุปแล้ว วัคซีนตัวไหนดีหมด วัคซีนตัวไหนก็ฉีดเถอะ ตัวไหนก็ได้ ดีทั้งนั้น แต่ก่อนฉีดจะต้องติดตามข้อมูลให้พร้อมว่าพร้อมจะไปฉีด การที่ฉีดวัคซีนจะป้องกันตัวเองได้ ป้องกันครอบครัวได้

ซึ่งจะพบว่า COVID-19 รอบใหม่ ส่วนใหญ่มาจากคนวัยหนุ่มสาวที่นำเชื้อไปติดครอบครัว ทำให้เด็กและผู้สูงอายุป่วยมาก และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว ส่วนเด็ก อาการป่วยยังไม่ค่อยรุนแรง

นอกจากนี้ การฉีดวัคซียยังช่วยป้องกันการระบาดในประเทศไทยด้วย ซึ่งทำให้อาจจมีโอกาสเปิดประเทศ แลละมีการดำเนินกิจกรรมได้ แต่คงยังไม่ถึงระดับเปิดผับและบาร์เหมือนในต่างประเทศ ที่มีการฉีกวัคซีน 60-70%

วัคซีน COVID-19 จะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาด และมีโอกาสที่จะควบคุมการระบาดในประเทศไทยและคนไทยได้ เพื่อที่จะดำเนินเศรษฐกิจต่างๆ ต่อไปได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง