COVID-19 รอบ 3 ฉุด "ธุรกิจร้านอาหาร" ฟื้นตัว

เศรษฐกิจ
30 เม.ย. 64
13:37
945
Logo Thai PBS
COVID-19 รอบ 3 ฉุด "ธุรกิจร้านอาหาร" ฟื้นตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ผลกระทบจาก COVID-19 ระลอก 3 ฉุดการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 โดยคาดว่าหดตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 382,000 - 394,000 ล้านบาท

วันนี้ (30 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง "การแพร่ระบาดรอบใหม่ ฉุดการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 คาด...หดตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 382,000 - 394,000 ล้านบาท" โดยระบุว่า

ธุรกิจร้านอาหารเผชิญความท้าทายต่อเนื่อง หลังจากการกลับมาแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ส่งผลให้ในวันที่ 29 เม.ย.2564 ภาครัฐได้ประกาศยกระดับ 6 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ห้ามมีการรับประทานอาหารภายในร้าน

รวมถึงจำกัดเวลาเปิดปิดในพื้นที่ควบคุม และพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ค.2564 ได้ส่งผลซ้ำเติมต่อการอยู่รอดของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อร้านอาหารแต่ละประเภท ดังนี้

"ร้านอาหารเต็มรูปแบบ" กระทบรุนแรง

ร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบต่อเนี่องอย่างรุนแรง จากการหดตัวของรายได้ของช่องทางการขายหลัก และโครงสร้างต้นทุนที่สูง ได้แก่ ร้านอาหารเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่น่าจะมีการหดตัวลงของรายได้อย่างมาก

ส่งผลให้คาดว่ายอดขายของธุรกิจร้านอาหารในกลุ่มนี้ในปี 2564 น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 139,000 - 144,000 ล้านบาท หรือหดตัวลงร้อยละ 12.0 ถึงร้อยละ 8.9

"ร้านเล็ก-ร้านข้างทาง" กระทบปานกลาง

กลุ่มร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากมีช่องทางการขายที่หลากหลาย โครงสร้างต้นทุนที่ยืดหยุ่น รวมถึงการปรับรูปแบบการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่

1. ร้านอาหารที่มีการให้บริการอย่างจำกัด (Limited Service Restaurant) ที่มีสัดส่วนการขายไปยังภายนอกสูง และมีการปรับรูปแบบของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ใช้ร้านอาหารขนาดเล็กเป็น Hub

สำหรับธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 61,000 - 63,000 ล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 2.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.7

2. ร้านอาหารข้างทางที่มีพื้นที่หน้าร้าน (Street Food) ที่คาดว่าได้รับประโยชน์จากนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐและการเข้าถึงผู้บริโภคที่ง่าย ซึ่งการหมุนเวียนของผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ในร้านอาหารประเภทดังกล่าว

ก่อให้เกิดการการขยายตัวเล็กน้อยบนความเปราะบาง ทำให้มีคาดว่าจะมีมูลค่ารวมที่ 182,000 - 187,000 ล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 1.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.7

แนะสำรวจ "ความพร้อม-ปรับตัวธุรกิจ"

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งทางฝั่งของการสร้างรายได้และช่องทางการขาย หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงในส่วนของโครงสร้างต้นทุนและหนี้สิน จำเป็นต้องสำรวจความพร้อม เพิ่มความระมัดระวัง และเร่งปรับตัวในช่วงที่เหลือของปี 2564

ด้วยมุมมองดังกล่าวทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 เหลือเพียง 382,000 - 394,000 ล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 5.6 ถึง 2.6 (YoY)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง