"หมอนิธิพัฒน์" ไม่เห็นด้วยให้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ทุกคนใน รพ.สนาม

สังคม
4 พ.ค. 64
10:26
748
Logo Thai PBS
"หมอนิธิพัฒน์" ไม่เห็นด้วยให้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ทุกคนใน รพ.สนาม
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล และเพจ Drama-addict ไม่เห็นด้วย กทม.ให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วย COVID-19 ทุกคนใน รพ.สนาม หวั่นยาขาดมือจนกระทบเคสที่จำเป็น และอาจเกิดเชื้อดื้อยาได้

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" กรณีแนวคิดให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วย COVID-19 ทุกคนที่เข้า รพ.สนาม ว่า

ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการจดทะเบียนยา และอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วย COVID-19 เป็นกรณีพิเศษสำหรับการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกแรก เนื่องจากมียาจำกัดจึงให้ใช้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งการเก็บข้อมูลย้อนหลังโดยคณะทำงานพบว่า ยาดังกล่าวน่าจะช่วยลดความรุนแรงและการสูญเสียจากโรค รวมทั้งใช้ได้ปลอดภัย แต่ยานี้ไม่มีใช้ในประเทศทางตะวันตกจึงไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการที่หนักแน่นรองรับ

คณะกรรมการจัดเตรียมยาของประเทศ ได้จัดเตรียมไว้ให้เพียงพอในระลอก 2 ซึ่งไม่เกิดปัญหาเพราะมีอัตราการใช้ราว 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยที่คณะกรรมการวิชาการได้ขยายข้อบ่งใช้ให้ครอบคลุมตั้งแต่ปอดอักเสบขั้นต้นและผู้ป่วยที่อาจเกิดปอดอักเสบรุนแรง ตนเองในนามสมาคมอุรเวชช์ฯ ได้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อบรรจุยานี้ไว้สำหรับให้ทุกโรงพยาบาลจัดซื้อได้เองเพื่อให้มีใช้งานเพียงพอ ในระหว่างดำเนินการนี้เกิดศึกระลอก 3 ตามมาอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยเพิ่มแบบทวีคูณควบคู่ไปกับยอดการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยมีอัตราการใช้ระหว่าง 20-70% แล้วแต่ความสะดวกการเข้าถึงยาในพื้นที่ เป็นที่มาของความฉิวเฉียดของการมียาสำรองใช้เกือบไม่เพียงพอ ขอบคุณยาต้นแบบจากญี่ปุ่นที่เข้ามาช่วยไว้ทันจำนวน 2.2 ล้านเม็ด (รักษาผู้ป่วยได้ราว 30,000-40,000 คน)

 

ให้ฟาวิพิราเวียร์ทุกเคส หวั่นยาขาดมือ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุว่า ขณะนี้มีแนวคิดขยายการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เข้าใกล้ 100% โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะการกวาดให้ยาแบบไม่แยกแยะจะมีข้อเสีย คือ

  • ยาอาจขาดมือจากที่สำรองไว้ ทำให้ผู้ป่วยรายที่จำเป็นอาจไม่ได้ยาชั่วคราว หรือได้ไม่เต็มจำนวน
  • การใช้ยาตั้งแต่แรกอาจทำให้แพทย์นิ่งนอนใจในประสิทธิภาพของยา จนละเลยการเฝ้าระวังการเกิดปอดอักเสบ อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานว่ายาดังกล่าวสามารถป้องกันการเกิดปอดอักเสบ หรือทำให้ปอดอักเสบเล็กน้อยไม่ลุกลาม
  • การใช้ยาฆ่าเชื้อที่ไม่สมเหตุสมผล (non-rational drug use) จะนำมาซึ่งการเกิดเชื้อดื้อยาภายหลัง

 

เช่นเดียวกับเพจ Drama-addict ที่โพสต์ข้อความระบุว่า "ตอนเย็นพ่อจ่ามาถามว่า ตอนนี้เขาจะให้ยาต้านไวรัสกับเคสที่เข้า รพ.สนาม ทุกรายเลยเหรอ จ่าก็บอกพ่อว่า ไม่มั้ง เพราะยาตัวนี้เขาให้กับกลุ่มที่มีอาการว่าปอดอักเสบแล้ว แบบนั้นช่วยได้ แต่ถ้าเป็นเคสสีเขียวที่อาการน้อยมาก ๆ เขาจะให้ทำไม ยายิ่งมีน้อย ๆ อยู่ แถมเรายังใช้ยาตั้งวันละห้าหกหมื่นเม็ด และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เพิ่งได้มาล็อตใหม่ ก็ใช้ได้อีกไม่นานหรอก มันก็ต้องซื้อมาเติมเรื่อย ๆ เพราะใช้วันนึงเยอะมาก"

เพจ Drama-addict เสนอให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาแนวคิดดังกล่าวอีกครั้ง และปรึกษาแพทย์โรคติดเชื้อโดยละเอียด เพราะหากแจกยาให้กับผู้ป่วย COVID-19 ทุกคน ทั้งอาการในระดับสีเขียว เหลือง อาจเป็นการใช้ยาเกินความจำเป็น และทำให้คนที่จำเป็นต้องได้ยา เช่นกลุ่มที่เริ่มมีอาการปอดอักเสบแล้ว เสียโอกาสเข้าถึงยาตัวนี้ได้ในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง