กทม.เห็นชอบใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" กลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเขียวบางส่วน

สังคม
5 พ.ค. 64
15:47
184
Logo Thai PBS
กทม.เห็นชอบใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" กลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเขียวบางส่วน
กทม.หารือคณะแพทย์ เห็นชอบใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ในผู้ป่วย COVID-19 กลุ่มสีเขียวบางส่วน เฉพาะคนที่มีปริมาณไวรัสในร่างกายมาก เสี่ยงโรคลุกลาม เพื่อศึกษาข้อดี-ข้อเสียของการรักษา

วันนี้ (5 พ.ค.2564) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย คณะแพทย์จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฯลฯ ร่วมประชุม

 

สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้เป็นสถานการณ์พิเศษที่จำเป็นต้องมีมาตรการปฏิบัติที่เข้มข้นมากกว่าปกติ กรุงเทพมหานครจึงเตรียมพร้อมยาฟาวิพิราเวียร์ 600,000 เม็ด เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางการใช้ยาเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และเห็นร่วมกัน ว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยเร็วจะมีผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่าการให้ยาช้า รวมทั้งเห็นว่าแนวทางปฏิบัติเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นแนวทางหลักที่ต้องถือปฏิบัติตาม

 

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครจะกำหนดมาตรการเสริมเพิ่มเติม เช่น การเร่งตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างเข้มข้น จากนั้นจะคัดกรองผู้ป่วยตามระดับอาการป่วยแบ่งเป็นสีเขียว เหลือง และแดง และนำส่งต่อระบบการรักษาพยาบาล

ในส่วนของผู้ป่วยที่อยู่ระดับสีเขียว คือ ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย รวมทั้งไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงของโรค จะได้รับการรักษาและติดตามอาการตามที่ กทม.กำหนด คือ การให้ยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงของโรค โดยเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวบางส่วนเท่านั้น คือ ต้องอยู่ในเกณฑ์ตามการประเมินของแพทย์ เช่น เป็นผู้ป่วยที่มีปริมาณไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้อื่นและเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้หากได้รับยาตั้งแต่แรกและรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5-10 วัน จะช่วยรักษาไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลืองหรือสีแดงในอนาคต ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวนี้ต้องให้ความยินยอมในการรักษาด้วย

 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จะจัดให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูลจากการรักษา รวมทั้งมีมาตรการป้องกันผลข้างเคียง และต้องมีการประเมินผลว่าการดำเนินตามนี้จะมีผลดีต่อการรักษาด้วยยาอย่างไร หรือจะมีผลทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในอนาคตหรือไม่ ซึ่งการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ครั้งนี้จะเป็นไปภายใต้การควบคุมของแพทย์ มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล มีระบบการติดตามผลและประเมินซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะร่วมให้คำแนะนำในการศึกษา ติดตามและประเมินผลครั้งนี้ด้วย หากพบว่าการรักษาตามที่กรุงเทพมหานครกำหนดครั้งนี้เกิดประโยชน์อาจนำไปเพิ่มเติมในคำแนะนำในการดูแลรักษาระดับประเทศต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง