แพทย์ยืนยันป่วยโรคหืดไม่เพิ่มความเสี่ยงโควิด-19

สังคม
7 พ.ค. 64
16:23
3,647
Logo Thai PBS
แพทย์ยืนยันป่วยโรคหืดไม่เพิ่มความเสี่ยงโควิด-19
นายกสมาคมองค์กรโรคหืดฯ ระบุโรคหืดไม่เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนยาพ่นช่วยลดอัตราการติดเชื้อแบบรุนแรง ขณะที่ไทยยับพบผู้เสียชีวิตจากโรคหืดสูง

วันนี้ (7 พ.ค.2564) ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (TAC) ระบุว่า ปัจจุบันพบอัตราการป่วยของผู้ป่วยโรคหืดลดลง แต่อัตราการตายจากอาการร่วมของโรคหืดกลับเพิ่มขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของ worldlifeexpectancy.com พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหืดวันละ 8-9 คน คิดเป็น 3,142 คนต่อปี คิดเป็น 3.42 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งผู้ใหญ่จะเสียชีวิตมากกว่าเด็กประมาณ 5 เท่า สาเหตุส่วนใหญ่ คือ ไม่ได้พ่นยาป้องกันหอบต่อเนื่อง และเวลามีอาการกำเริบก็จะพ่นยาไม่ทันหรือพ่นไม่ถูกวิธี

โรคหืดเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ และสามารถรักษาให้หายได้ แต่เป็นอันตรายต่อชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เป็นโรคที่เกิดจากภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ ทั้งจากการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง ตีบแคบเป็นพักๆ ทำให้เกิดอาการเหนื่อย หายใจลำบากตามมา

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหืดเป็นอาการเรื้อรัง รักษาไม่หาย ทำให้ขาดความสม่ำเสมอในการใช้ยา ซึ่งปกติคนไข้จะมียาติดตัว 2 ประเภท คือ 1.ยาควบคุม สำหรับใช้ระยะยาว ช่วยให้รักษาหาย และ 2.ยาฉุกเฉิน ใช้ในกรณีที่มีอาการหอบกำเริบ ช่วยขยายหลอดลม

โรคหืดสามารถรักษาหาย ยิ่งรักษาเร็วและต่อเนื่องยิ่งมีโอกาสหายสูง โดยในเด็กมีโอกาสหายมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงวัยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงกว่าเด็กและพ่นยาได้ยากกว่า เพราะบางคนชินกับอาการจนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหืด

ทั้งนี้ช่วงการระบาดโควิด-19 มีคนกังวลว่าโรคหืดจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดโควิด-19 หรือไม่ ซึ่ง ศ.พญ.อรพรรณ ยืนยันว่าไม่มีผล เพราะผลการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า คนปกติกับผู้ป่วยโรคหืดมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ไม่แตกต่างกัน แต่หากผู้ป่วยโรคหืดได้รับเชื้อโควิด-19 อาจมีภาวะปอดอักเสบรุนแรงมากกว่า ขณะที่ยาสเตียรอยด์สูดพ่นในผู้ป่วยโรคหืดเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แบบรุนแรง

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง