เปิดหลักฐาน "เสือโคร่ง" รหัส HKT-262F หากินข้ามถิ่นถึงป่าแม่วงก์

สิ่งแวดล้อม
11 พ.ค. 64
12:56
19,839
Logo Thai PBS
เปิดหลักฐาน "เสือโคร่ง" รหัส HKT-262F หากินข้ามถิ่นถึงป่าแม่วงก์
กรมอุทยานฯ เปิดคลิปความยาว 50 วินาทีจับภาพ "เสือโคร่ง" รหัส HKT-262F กำลังกินกวางป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ระบุเป็นเสือวัยรุ่น จากป่าห้วยขาแข้งข้ามถิ่นมาหากินครั้งแรกในป่าแม่วงก์

วันนี้ (11 พ.ค.2564) นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน smart patrol พบซากกวางป่าใกล้ๆ กับเส้นทางเดินลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ จากการสังเกตพบซากกวางป่ามีรอยถูกกัด และถูกลากมาจากถนนอีกฝั่ง คาดว่าน่าจะเป็นร่องรอยที่เกิดจากการกระทำของเสือโคร่ง จึงได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย พร้อมประสานทีมนักวิจัยสัตว์ป่าของ WWF-ประเทศไทย เข้าพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบ และทำการติดตั้งกล้อง camera trap ไว้

ต่อมาเมื่อ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ตรวจสอบภาพจากกล้องดักถ่ายที่ได้ติดตั้งไว้ ทำให้พบภาพเสือโคร่งขนาดใหญ่ กลับมากินเหยื่อตามคาดไว้ และสามารถบันทึกภาพขณะที่เสือค่อยๆลากซากกวางเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ความยาว 50 วินาที  

เสือตัวนี้เป็นเสือโคร่งวัยรุ่นตัวเมีย อายุ 3 ปีจากลายพาดกลอน เป็นเสือโคร่งตัวใหม่ที่ยังไม่เคยพบในพื้นที่แม่วงก์มาก่อน แต่เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เคยถ่ายภาพและกำหนดรหัส เรียกชื่อว่า HKT-262F เกิดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
ภาพ : กรมอุทยานฯ-WWF

ภาพ : กรมอุทยานฯ-WWF

ภาพ : กรมอุทยานฯ-WWF

หลักฐานบ่งชี้ป่าแม่วงก์สมบูรณ์รองรับเสือห้วยขาแข้ง

ด้านนายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.62  เจ้าหน้าที่เคยพบซากกระทิง ถูกเสือโคร่งล่า ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เม.ย.63 ก็พบเสือโคร่งล่ากวางป่าอีกครั้ง จากเหตุการณ์ที่พบเสือล่าเหยื่อ ในพื้นที่แม่วงก์ ถือได้ว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญในการที่จะใช้เป็นพื้นที่รองรับการกระจายของเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเสือโคร่งที่สำคัญของไทย 

การที่มีเสือข้ามถิ่นมาล่ากวางป่า และสามารถถ่ายภาพได้นั้น ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่าสภาพป่าในแม่วงก์ ยังคงความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
ภาพ : กรมอุทยานฯ-WWF

ภาพ : กรมอุทยานฯ-WWF

ภาพ : กรมอุทยานฯ-WWF

 

ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ยังได้ให้ความสำคัญในการจัดการพื้นที่เพื่อสัตว์ป่า โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ให้มีระบบนิเวศทุ่งหญ้าและโป่งเทียมเพิ่มเติม เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์กีบชนิดต่าง ๆ เช่น กวางป่า เก้ง กระทิง หมูป่า  

สำหรับเสือโคร่งจัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ จากการประเมินพบประชากรเสือโคร่งทั่วโลกเหลือไม่ถึง 4,000 ตัว โดยไทยมีประชากรเสือโคร่ง 200-250 ตัวมากสุดในผืนป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง