3 คณบดีโรงเรียนแพทย์ ห่วง กทม. เหตุผู้ติดเชื้อยังสูง

สังคม
11 พ.ค. 64
12:52
389
Logo Thai PBS
3 คณบดีโรงเรียนแพทย์ ห่วง กทม. เหตุผู้ติดเชื้อยังสูง
3 คณบดี โรงเรียนแพทย์ ห่วง กทม.หลังยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น​รายวัน​วอนสังคมตระหนักร่วมกันฉีดวัคซีนป้องกันโรค​ ลดภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ขณะนี้โรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง ร้อยละ​ 85 รับผู้ป่วยหนัก

วันนี้ ( 11 พ.ค.2564) ศ.นพ.ประสิทธิ์​ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์​ ศิริราชพยาบาล​ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ระลอกล่าสุด โดยยอมรับว่า​ จำนวนผู้ติดเชื้อในกทม.ยังสูงดังนั้นการควบคุมโรคที่ดีที่สุด คือ​ ต้องเร่งคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนแออัดให้เร็ว ก็จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้

ขณะนี้โรงเรียนแพทย์หลายแห่ง มีผู้ป่วยหนักที่ต้องดูแลรักษาประมาณ 150 - 300 คน มีผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจทั่วประเทศ 400 คน ในจำนวนนี้จะพบอัตราการเสียชีวิต​ 1​ ใน​ 4 ถึง 1 ใน​ 5 และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตต่อไปอีก​ 80-100 คน  หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้​ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข​คงอยู่ในภาวะตึงมือกับการรับผู้ป่วยหนัก​ ซึ่งแต่ละแห่งก็ต้องมีระบบหมุนเวียนเตียง​เพื่อรักษาผู้ป่วยหนัก

ผู้เชี่ยวชาญ​ ยังเห็นตรงกันว่า การระบาดระลอกนี้หนักกว่ารอบที่ผ่านมาถึง 15 เท่า​ จึงทำให้เห็นตัวเลขผู้เสียชีวิต​ ผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้นตามสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น​ นอกจากนี้​ ไวรัสกลายพันธุ์​ ยังเป็นอีกปัจจัยทำให้พบการติดเชื้อรุนแรงขึ้น​ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยงของประชาชนที่การด์ตก ขณะเดียวกัน​ ภาวะอ้วน​ยังเป็นปัจจัยร่วมของการระบาดระลอกนี้​ เพราะกลุ่มนี้หากรับเชื้อแล้ว ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้นและอาการหนัก

ดังนั้น​ แนวทางการลดอัตราการติดเชื้อ  คือการที่คนไทยต้องร่วมกันฉีดวัคซีน หยุดเชื้อช่วยชาติ เพื่อป้องกันคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่ยังมีกิจกรรมออกนอกบ้าน​ ซึ่งโรงเรียนแพทย์เตรียมปรับยุทธศาสตร์ สร้างความเข้าใจในสังคมรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนอย่างถูกต้อง

ส่วนแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อ ขณะนี้ยอมรับว่า เรามีประสบการณ์มากพอในการรักษาผู้ติดเชื้อทั้งเรื่องการให้ยาที่เหมาะสมและการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เร็วขึ้น

ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ยังเป็นยาหลักในการรักษาผู้ติดเชื้อที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงแต่การให้ยานั้น แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลและความรุนแรงของโรค และจะไม่ให้ในผู้ป่วยทุกคน เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้​

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง